ตรวจสุขภาพรุ่นใหญ่ ไม่ใช่แค่พื้นฐาน

ตรวจสุขภาพรุ่นใหญ่ ไม่ใช่แค่พื้นฐาน

HIGHLIGHTS:

  • ผู้หญิงวัย 65 ปี และผู้ชายอายุ 70 ปี ทุกคนควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก เพื่อคัดกรองว่ากระดูกเริ่มบางหรือเริ่มพรุนหรือยัง จะสามารถทำการรักษาและป้องกันการเกิดกระดูกหักได้
  • ในผู้สูงวัยควรมีการตรวจวิตามินบางชนิด เช่นวิตามินบี 12 และโฟเลต เนื่องจากเป็นวิตามินที่มีความสำคัญกับสภาพสมอง อารมณ์ ระบบเลือด ระบบประสาท และความแข็งแรงโดยรวมของร่างกาย
  • การตรวจกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และการทรงตัวในผู้สูงอายุมีความจำเป็น เนื่องจากการหกล้มในผู้สูงวัยถือเป็นเรื่องใหญ่ หลายท่านชีวิตเปลี่ยนไป หรืออาจเสียชีวิตได้เพราะหกล้มเพียงครั้งเดียว

แม้หลักการสหประชาชาติจะระบุว่า ผู้สูงอายุ คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว เซลล์ในร่างกายของมนุษย์เสื่อมสภาพลงทุกวัน อีกทั้งผู้สูงอายุก็เคยมีอายุน้อยมาก่อนแล้วทั้งสิ้น ผ่านการใช้ชีวิต ร่างกาย และอวัยวะต่างๆ ตามกาลเวลา เมื่ออายุมากขึ้นทุกระบบของร่างกาย ย่อมเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุย่อมไม่ใช่เพียงแค่เจาะเลือดหรือการตรวจร่างกายพื้นฐานอีกต่อไป

เริ่มต้นด้วยการประเมินสุขภาพ

ด้วยบริบทของชีวิตผู้สูงอายุมีมากขึ้นตามวัย การตรวจสุขภาพจึงจำเป็นต้องมีการประเมินสุขภาพก่อนการตรวจ โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

  1. ร่างกาย (Physical) ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และประเมินผลจากห้องปฏิบัติการ เพื่อหาปัญหาโรคทางกาย
  2. สภาวะสมองและจิตใจ (Cognitive and Mental) ตรวจความจำ คัดกรองโรคสมองเสื่อม และตรวจสภาวะทางอารมณ์
  3. สังคม (Social support) ด้วยสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป มีโรคประจำตัวรุมเร้า และไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้เหมือนวัยหนุ่มสาว ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากขึ้น หากผู้สูงอายุท่านใดมีแรงสนับสนุนทางสังคมที่ดี เช่น ลูกๆ ดูแลดี มีเพื่อน และคนไข้ใส่ใจดูแลตนเอง ก็มีแนวโน้มว่าผู้สูงวัยท่านนั้นจะมีสุขภาพดีและชีวิตยืนยาวมากกว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว ไม่มีคนสนใจดูแล
  4. ความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (Functional assessment) เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายมีความเปลี่ยนแปลง หู ตา ข้อต่อ กำลังกล้ามเนื้อ รวมถึงความจำไม่ดี อาจทำให้กิจกรรมง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ล้างหน้า อาบน้ำ แปรงฟัน หรือแม้แต่การรับประทานอาหารเองกลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันทำให้ทราบว่า ผู้สูงอายุท่านใดต้องการการดูแลช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันอย่างไรบ้าง

ตรวจสุขภาพแบบรุ่นใหญ่

ซักประวัติตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า

การตรวจสุขภาพในผู้สูงอายุเริ่มต้นด้วยการซักประวัติ แต่ไม่เพียงแค่คำถามพื้นฐานทั่วไป การซักประวัติผู้สูงวัยต้องเริ่มต้นตั้งแต่ ศีรษะจรดปลายเท้า นอกจากถามถึงความผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายแล้ว ยังมีคำถามเจาะลึกถึงกิจวัตรประจำวัน ลักษณะความเป็นอยู่ การเดินทางมายังโรงพยาบาล รวมถึงผู้ดูแล เป็นต้น

การตรวจร่างกายในผู้สูงอายุ จะเน้นให้ความสำคัญกับ 3 ระบบอวัยวะหลัก คือ

  1. ระบบหัวใจ หลอดเลือด เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเป็นความดัน เบาหวาน ไขมัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ
  2. ระบบประสาทและสมอง การตรวจร่างกายผู้สูงวัย ต้องทำการทดสอบความจำและสมรรถภาพสมองด้วย
  3. ระบบกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อและการทรงตัว การหกล้มในผู้สูงวัยเกิดจากหลายปัจจัย เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อใช้งานได้ไม่ดี หรือมีโรคประจำตัว รวมถึงผลจากการใช้ยาบางชนิด ผู้สูงอายุหลายท่านมักกลัวการหกล้ม เนื่องจากการหกล้มในผู้สูงวัยถือเป็นเรื่องใหญ่มาก หลายท่านชีวิตเปลี่ยนไป หรืออาจเสียชีวิตได้เพราะหกล้มเพียงครั้งเดียว

ตรวจคัดกรองโรคในผู้สูงวัย

การเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน น้ำตาล ไขมัน ไต ตับ และค่าเข้มข้นของเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง ในผู้สูงอายุมีความจำเป็นเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปีของคนทั่วไป หากแต่ควรมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ และการตรวจวิตามินบางชนิด อาทิ วิตามินบี 12 และโฟเลต เนื่องจากเป็นวิตามินที่มีความสำคัญกับสภาพสมอง อารมณ์ ระบบเลือด ระบบประสาท และความแข็งแรงโดยรวมของร่างกาย

ผู้สูงวัยส่วนใหญ่มักมองข้ามการตรวจโรคกระดูกพรุน ผู้หญิงวัย 65 ปี และผู้ชายอายุ 70 ปี ทุกคนควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก เพื่อคัดกรองว่ากระดูกเริ่มบางหรือเริ่มพรุนหรือยัง จะสามารถทำการรักษาและป้องกันการเกิดกระดูกหักได้

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในผู้สูงอายุก็มีความสำคัญเช่นกัน โรคมะเร็งที่แนะนำให้ตรวจ ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งปอดในผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่เรื้อรัง

ทั้งนี้ การตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด เดินสายพาน อาจพิจารณาทำตามความเหมาะสม เพื่อค้นหาปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุและสามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที

การตรวจคัดกรองในผู้สูงอายุ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ที่ดูแลประจำ หรือแพทย์เฉพาะทาง เพื่อลงรายละเอียดการตรวจคัดกรองในแต่ละบุคคล เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุดสำหรรับผู้สูงวัยแต่ละท่าน

การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่ร่างกายผ่านการทำงานมาเนิ่นนาน ย่อมมีความเสื่อมของระบบต่างๆ
“ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถชะลอหรือป้องกันให้เกิดผลเสียกับชีวิตน้อยที่สุดได้”

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?