Health Risk Score

หมดกังวลใจในทุกภัยเงียบ
ด้วยโปรแกรมตรวจหาความเสี่ยงโรคร้ายสำหรับวัย 40 ปี ขึ้นไป


มะเร็ง

มะเร็ง เป็นโรคที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเองหรือคนที่เรารัก ดังนั้น หากคุณมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งอย่างน้อย 1 คน คุณก็เสี่ยงกว่าคนอื่นแล้ว!!! 

สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็ง 

  • สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต 90%และพันธุกรรม10% 
  • ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น ได้รับสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม มลพิษทางอากาศ การได้รับรังสี การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและพยาธิบางชนิด 
  • ปัจจัยจากพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุราเป็นประจำ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารหมักดอง อาหารที่ผสมสารกันบูด และอาหารไหม้เกรียม ปิ้งย่างเขม่าดำ มีความเครียดสะสมเรื้อรังมาเป็นเวลานาน 
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ความผิดปกติของยีนที่ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่หรือบรรพบุรุษ ซึ่งปัจจัยนี้ แม้จะมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ แต่ถ้าได้รับการถ่ายทอดมาแล้วสามารถทำให้บุคคลนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งในอนาคต 

คลิกทำแบบประเมินหาความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ ที่นี่


อัลไซเมอร์ 

ลืมง่าย จดจำยาก บ่อยครั้ง 

จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่พบใหม่ ร้อยละ 50 ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ คนทั่วไปเมื่ออายุมากกว่า 65 ปี มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 5 ปี และเพศหญิงจะพบความเสี่ยงมากกว่าเพศชายเมื่ออายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไป 

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด แม้ว่าโรคนี้จะพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่โรคนี้ก็สามารถเกิดได้กับวัยทำงานได้เช่นกัน ในทางการแพทย์ได้มีการศึกษาเพื่อหาวิธีป้องกันและรักษา ซึ่งถ้าวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยให้อาการทุเลาขึ้น การดำเนินโรคช้าลง หรือบางกรณีอาจสามารถรักษาให้กลับคืนเป็นปกติได้ 

โรคอัลไซเมอร์มักส่งผลต่อความจำ ความคิด และพฤติกรรมต่างๆ อาการของโรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะค่อยๆลืมอดีตของตนเอง ลืมกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน หนักที่สุดคือลืมชื่อคนในครอบครัว สาเหตุที่แท้จริงของโรคอัลไซเมอร์นั้น เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ยีนบางชนิดเกิดการกลายพันธุ์ สารพิษโลหะหนัก ความเครียดเรื้อรัง โรคไขมันในเลือดสูง โรคซึมเศร้า ขาดการออกกำลังกาย 

ในปัจจุบันเราสามารถรู้ก่อน เพื่อหาทางป้องกันได้ จากการตรวจสุขภาพแบบเชิงลึกระดับยีนหรือการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยร่วมวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มต้น 

คลิกทำแบบประเมินหาความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้ ที่นี่


สโตรก 

ปวดหัวบ่อย ไขมันและความดันในเลือดสูง รีบมาพบแพทย์ 

โรคหลอดเลือดสมองตีบ/แตก หรือ สโตรก (Stroke) นั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่เดิม เช่น โรคเบาหวาน โรคเครียด โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น รวมทั้งการรับประทานอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และขาดการออกกำลังกาย 

หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการของสโตรกเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยมีเวลาเพียง 270 นาที ก่อนที่เนื้อสมองจะตาย จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยสโตรก 2 ใน 3 อาจจะเกิดความพิการไปตลอดชีวิต หากมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป 

4 สัญญาณเตือนของสโตรก (F.A.S.T.) ที่คุณควรรู้ 

  1. FACIAL PALSY: มีอาการกล้ามเนื้อที่หน้าอ่อนแรง ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท น้ำลายไหล มุมปากตก ไม่สามารถยิงฟันหรือยิ้มได้ 
  2. ARM DRIP: แขนหรือขาอ่อนแรง ซีกใดซีกหนึ่ง ยกไม่ขึ้น หรือยกขึ้นค้างได้ ไม่นานก็ตกลง 
  3. SPEECH: พูดลำบาก พูดจาติดๆ ขัดๆ พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก 
  4. TIME: นำผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะเนื้อสมองจะตายภายใน 270 นาทีหลังเกิดอาการ 

ในปัจจุบันเราสามารถดูแลและป้องกันตัวเองจากสโตรกได้ ด้วยการตรวจสุขภาพร่างกายแบบเฉพาะเจาะจงในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง 

คลิกทำแบบประเมินหาความเสี่ยงโรคสโตรกได้ ที่นี่


โรคหัวใจ 

คุณก็เสี่ยงโรคหัวใจ หากมีใครในครอบครัวเป็น 

ในปัจจุบันพบว่าโรคหัวใจ ทำให้คนเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจนั้นมีหลายประเภท แต่ที่พบได้บ่อยคือ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจนั้น มีทั้งที่ควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้ 

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

  1. พันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ สมาชิกคนอื่นในครอบครัวจะมีความเสี่ยงด้วย 
  2. อายุที่เพิ่มขึ้น แนะนำมาตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ สำหรับคนอายุ 40 ปี ขึ้นไป 
  3. เพศ จากงานวิจัยพบว่า ผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือน 

ปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ และยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ 

  1. ควรรักษาระดับคอเลสเตอรอล น้ำตาล และความดันโลหิต ให้อยู่ในระดับปกติ 
  2. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้อ้วน 
  3. งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ 
  4. ไม่เครียดบ่อยจนเกินไป 

เราสามารถตรวจเช็คสุขภาพหัวใจได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจหัวใจโดยใช้เครื่องมือที่เฉพาะเจาะจงโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ 

คลิกทำแบบประเมินหาความเสี่ยงโรคหัวใจได้ ที่นี่


โรคไขมันพอกตับ 

ดื่มแอลกอฮอล์เกินวันละ 2 หน่วย เพิ่มความเสี่ยงไขมันพอกตับ 

โรคไขมันพอกตับ เกิดจากการมีไขมันไปสะสมอยู่ในเซลล์ตับจนเกิดความเสียหายต่อเนื้อตับ ทำให้ตับอักเสบ หรือมีพังผืด หากปล่อยไว้นานจะทำให้เนื้อตับตาย กลายเป็นโรคตับแข็ง และเป็นมะเร็งตับในที่สุด 

โรคไขมันพอกตับ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ โรคไขมันพอกตับที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty liver disease, AFLD) และ โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease, NAFLD) 

สำหรับโรคไขมันพอกตับที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ หากดื่มแอลกอฮอล์เกินวันละ 2 หน่วย จะส่งผลเสียต่อเซลล์ตับได้อย่างรวดเร็ว (แอลกอฮอล์ 1 หน่วย = สก็อตช์ วิสกี้ เหล้าขาว เหล้ามีสี 1 แก้ว ขนาด 30 มิลลิลิตร หรือประมาณ 1 เป๊ก, ไวน์ 1 แก้ว ขนาด 100 มิลลิลิตร และเบียร์ 1 แก้ว ขนาด 285 มิลลิลิตร) 

โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ มักพบในผู้ป่วยโรคอ้วน ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โรคเบาหวานหรือภาวะดื้อต่ออินซูลิน โรคไขมันในเลือดสูง หรือปัจจัยทางพันธุกรรม หรือยาบางชนิด หรือผู้ที่ชอบรับประทานอาหารหวานหรือขนมหวานบ่อย ก็สามารถมีความเสี่ยงเป็นโรคไขมันพอกตับได้ 

คลิกทำแบบประเมินหาความเสี่ยงโรคไขมันพอกตับได้ ที่นี่


ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงโรครุนแรง 

โรคนอนกรนนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ 

  • นอนกรนแบบธรรมดา คือ การนอนกรนเสียงดังอย่างเดียว ถือเป็นภาวะที่ก่อความรำคาญต่อคู่สมรส หรือคนอื่นๆ ที่นอนร่วมห้อง ไม่มีผลกระทบมากต่อสุขภาพ 
  • นอนกรนแบบมีหยุดหายใจ เกิดจากการที่มีทางเดินหายใจแคบมากในเวลาหลับ โดยที่เมื่อยังหลับไม่สนิทจะยังเป็นการกรนที่สม่ำเสมอ แต่เมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ และจะมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจ (Obstructive Sleep Apnea) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการกลั้นหายใจ ช่วงที่หยุดหายใจนี้เอง ที่ทำให้เกิดอันตรายเนื่องจากระดับออกซิเจนในเลือดแดงจะลดต่ำลงอย่างมาก ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ปอด และสมอง ยิ่งหยุดหายใจมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลให้กลางวันง่วงมากหรือเพลียมากเท่านั้น รวมทั้งยังเป็นผลเสียต่อสุขภาพโดยมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจขาดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคของหลอดเลือดในสมอง 

คลิกทำแบบประเมินหาความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ ที่นี่

คะแนนบทความ
สมัคร

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?