ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากขึ้นเนื่องจาก เมื่ออายุมากขึ้น องค์ประกอบของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง มีสัดส่วนของไขมันต่อกล้ามเนื้อมากขึ้น มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ ลดลง มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินและการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินลดลง จนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น
การวินิจฉัยภาวะเบาหวาน ทำได้โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมีอาการของภาวะน้ำตาลสูงและมีระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่มมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมีการทดสอบโดยการให้กินน้ำตาล 75 กรัมและวัดน้ำตาลในเลือดที่สองชั่วโมงหลังจากนั้น หากได้ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% โดยในการวินิจฉัย ต้องมีผลการทดสอบที่ผิดปกติอย่างน้อยสองครั้ง หรือมีการตรวจยืนยันซ้ำ
ในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีอัตราส่วนการเป็นเบาหวานมากขึ้น จึงมีคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองภาวะเบาหวาน โดยหากผลปกติ แนะนำให้ตรวจคัดกรองซ้ำในอีก 3 ปี แต่หากผลเป็นภาวะก่อนเบาหวาน (Pre-diabetes) เช่น มีระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร 100 ถึง 125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือการทดสอบโดยการให้กินน้ำตาล 75 กรัมและวัดน้ำตาลในเลือดที่สอง ชั่วโมงหลังจากนั้นวัดค่าได้ 140 ถึง 199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือค่าน้ำตาลสะสม (HbA1C) 5.7 ถึง 6.4% แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองซ้ำในปีถัดไป
ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานควรได้รับการรักษา อย่างไรก็ตามในผู้สูงอายุมีสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากกว่าวัยอื่นเนื่องจากหากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ผู้สูงอายุก็มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลต่ำจากการรักษาเบาหวานเช่นเดียวกัน เป้าหมายระดับน้ำตาลในเลือดของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานนั้นแบ่งตามสุขภาพของผู้สูงอายุ ดังนี้
ผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานหากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะปลายประสาทเสื่อม ไตวาย จอตาเสื่อม เป็นต้น ซึ่งผู้สูงอายุอาจกังวลเกี่ยวกับการตัดขา ซึ่งเกิดจากภาวะปลายประสาทเสื่อม ทำให้เกิดการลดความรู้สึกที่ปลายมือปลายเท้า ในบางครั้งหากเกิดแผลอาจไม่ทันสังเกตจนทำให้แผลมีการติดเชื้อและลุกลามได้ง่าย และในผู้ป่วยเบาหวาน การติดเชื้อมักรุนแรงกว่าผู้ป่วยทั่วไป จึงทำให้ในบางครั้ง ต้องมีการตัดอวัยวะที่มีการติดเชื้อออก อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงอายุสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ก็จะชะลอการเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ และช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย
แต่หากผู้สูงอายุมีภาวะปลายประสาทเสื่อมแล้ว การป้องกันการเกิดแผล เช่น การหมั่นตรวจปลายมือปลายเท้าเป็นประจำ การตัดเล็บไม่ให้สั้นหรือยาวมากจนเกินไป การใส่รองเท้าที่พอดี การระมัดระวังกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดแผล ก็จะช่วยป้องกันการเกิดแผลที่เท้าและป้องกันการลุกลามของแผลจนต้องตัดขาได้
แม้การเกิดเบาหวานมีหลายปัจจัยร่วมกัน แต่การดูแลและควบคุมพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสมก็สามารถช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน แป้ง น้ำตาล รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกากใยสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ หากมีโรคประจำตัวควรควบคุมโรคประจำตัวให้ดี พบแพทย์และตรวจคัดกรองเบาหวานอย่างสม่ำเสมอเพื่อจะได้เริ่มควบคุมระดับน้ำตาลตั้งแต่ระยะก่อนเบาหวาน ก็จะสามารถช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่