อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ

อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ

Highlights:

  • อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ มักเกิดจากการที่มีการสร้างและคั่งของของเหลวในบริเวณดังกล่าวมากกว่าปกติ  สาเหตุอาจมาจากการนั่งหรือยืนนานๆ รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด ดื่มน้ำมากเกินไป หรืออาจจะมาจากโรคร้ายแรง  
  •  การป้องกันอาการเท้าบวมทำได้โดย ลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน  ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม หากต้องนั่งหรืออยู่ท่าเดิมนาน ๆ เช่น ระหว่างเดินทางไกล ควรยกขา ยืนหรือเดินไปมาบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นบริเวณต้นขา เนื่องจากจะทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ไม่ดี
  • หากผู้สูงอายุมีอาการขาบวม เท้าบวม ร่วมกับอาการหายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก มีโรคประจำตัว เช่น โรคไตที่มีอาการแย่ลง มีอาการเท้าบวมร่วมกับแดง ร้อน เจ็บเมื่อสัมผัส มีไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยด่วน 

อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ คืออะไร

อาการเท้าบวม คืออาการที่เท้ามีอาการบวม โตมากกว่าปกติ อาจมีการกดบุ๋มร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ อาจเป็นในเท้าข้างเดียวหรือสองข้าง

อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร

อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุมักเกิดจากการที่มีการสร้างและคั่งของของเหลวในบริเวณดังกล่าวมากกว่าปกติ โดยมักเกิดจาก

  • การยืนหรือนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานาน
  • การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไป
  • การดื่มน้ำมากเกินไป
  • น้ำหนักเกิน
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ฮอร์โมนทดแทน ยาต้านซึมเศร้า หรือยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น
  • การที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนกลับเข้าหัวใจได้อย่างเป็นปกติ
  • การบาดเจ็บ เช่น ข้ออักเสบ ข้อเท้าแพลง
  • การถูกแมลงสัตว์กัดต่อย
  • โรคเกี่ยวกับหัวใจ ไต ตับ
  • ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
  • การติดเชื้อ
  • การได้รับการผ่าตัดบริเวณขา เท้า หรือสะโพก โดยเฉพาะการผ่าตัดมะเร็งซึ่งมีการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาร่วมด้วย
  • มีโปรตีน เช่น อัลบูมิน (albumin) ในร่างกายต่ำ

รู้ได้อย่างไรว่าเท้าบวมผิดปกติ

หากผู้สูงอายุมีอาการเท้าบวมและไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ซึ่งจะสอบถามเกี่ยวกับบริเวณที่บวม บวมบริเวณใดบ้าง เฉพาะข้อเท้า เท้า ขา หรือทั้งตัว อาการบวมเป็นเวลาใด เป็นมากในช่วงเช้าหรือเย็น มีปัจจัยใดที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง อาการดีขึ้นเมื่อยกขาสูงหรือไม่ มีประวัติหรือมีความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดหรือขาหรือไม่ มีเส้นเลือดขอดหรือไม่ มีประวัติการใช้ยาต่างๆ หรือไม่  มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น  

นอกจากนี้ อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ เช่น การตรวจหาเกลือแร่ในเลือด การทำงานของไต ตับ การเอกซเรย์ปอดและขา การทำอัลตร้าซาวด์บริเวณขา การตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ การตรวจปัสสาวะ เป็นต้น โดยแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจในโรคที่สงสัย

การรักษาอาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ

การรักษาหรือวิธีแก้อาการเท้าบวมในผู้สูงอายุ มักขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดการบวม เช่น หากเป็นจากการยืนหรือนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานาน การยกขาสูงและเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ จะช่วยลดการบวมได้ด้วยการลดน้ำหนัก ลดอาหารเค็ม การปรับยาที่ใช้เป็นยาที่ไม่มีผลข้างเคียงในการทำให้ขาบวม ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับหรือเปลี่ยนยา หากเท้าบวมจากการติดเชื้อ จำเป็นต้องได้ยาฆ่าเชื้อ 

การป้องกันเท้าบวมในผู้สูงอายุ

  • ลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน
  • ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม
  • หากต้องนั่งหรืออยู่ท่าเดิมนาน ๆ เช่น ระหว่างเดินทางไกล ควรยกขา ยืนหรือเดินไปมาบ่อย ๆ
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นบริเวณต้นขา เนื่องจะทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ไม่ดี
  • การออกกำลังเฉพาะที่ โดยเน้นที่ขา ข้อเท้า สะโพก
  • การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียม

การดูแลเมื่อมีอาการเท้าบวม

  • ยกขาสูงหรือวางเท้าบนหมอน 1-2 ใบ เพื่อลดอาการบวม
  • ใส่ถุงเท้าหรือถุงน่องที่รัดแน่นพอประมาณ
  • หากมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะมีภาวะเร่งด่วน ควรไปพบแพทย์

เมื่อไหร่ที่ต้องไปพบแพทย์

อาการเท้าบวมอาจเป็นสัญญาณของโรคที่อันตรายอื่น ๆ ได้ หากผู้สูงอายุมีอาการขาบวมร่วมกับอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา

  • หายใจไม่อิ่ม
  • มีอาการแน่นหน้าอก
  • มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจหรือโรคไตที่มีอาการแย่ลง
  • มีประวัติเป็นโรคตับและมีอาการบวมที่ขาหรือท้อง
  • มีอาการเท้าบวมร่วมกับแดง ร้อน เจ็บเมื่อสัมผัส
  • มีไข้
  • อาการบวมเป็นที่ข้างใดข้างหนึ่ง

เท้าบวม สัญญาณเตือนโรคร้ายหรือไม่

เท้าบวมอาจเพียงเกิดจากความผิดปกติของการคั่งของของเหลว หรือเกิดจากโรคร้ายแรงอื่น ๆ 
เช่น หัวใจ ไต ตับ ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ขา การติดเชื้อ มะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

อาการเท้าบวมที่เกิดจากโรคร้ายแรง หากปล่อยไว้อาจทำให้ตัวโรคเป็นมากขึ้นจนส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกาย ทำให้การรักษายากขึ้น ต้องใช้เวลามากขึ้น และได้ผลลัพธ์ของการรักษาที่ไม่ดี ในบางรายอาจรุนแรงมากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการขาบวม เท้าบวม ร่วมกับอาการอื่นที่น่าสงสัยควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?