- ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลงตามวัย
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยารักษาโรคความดันเลือดสูง ยารักษาโรคทางจิตเวช ยารักษาโรคภูมิแพ้ รวมถึงเคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง
- การฉีดยาเพื่อลดขนาดก้อนเนื้องอกมดลูกก่อนการผ่าตัด อาจส่งผลให้ช่องคลอดแห้งได้
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
- ความต้องการทางเพศต่ำ หรือมีปัญหาทางเพศอื่นๆ อาจส่งผลให้ทำเกิดภาวะช่องคลอดแห้ง ในทางกลับกัน ภาวะช่องคลอดแห้งก็อาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้เช่นกัน
- อาการระคายเคืองช่องคลอดเนื่องจากแพ้สบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น รวมถึงแพ้แผ่นอนามัย และกางเกงใน
- การสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ ทำให้ช่องคลอดเสียความเป็นกรดและแห้ง
- เกิดผื่นผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด
วิธีดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันหรือลดปัญหาช่องคลอดแห้ง มีหลายวิธี คือ ควรรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยเฉพาะถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ซึ่งมีสารไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ออกฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ช่องคลอด ใช้เจลหล่อลื่นขณะมีเพศสัมพันธ์ เลี่ยงการใช้สบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดช่องคลอด ควรล้างช่องคลอดให้สะอาดด้วยน้ำธรรมดา ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ไม่สวนล้างช่องคลอด ต้องดูแลความสะอาดของกางเกงใน หากใช้แผ่นอนามัยควรเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ปล่อยให้หมักหมมหรืออับชื้น หากพบผื่นหรือสิ่งผิดปกติบริเวณช่องคลอด ควรปรึกษาแพทย์ อย่าอายหรือปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรัง
การเพิ่มกิจกรรมทางเพศด้วยความรักและภาษากาย กระตุ้นให้มีน้ำหล่อลื่นออกมาให้ช่องคลอดชุ่มชื้นขึ้น ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดปัญหาได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ถุงยางอนามัยที่มีสารโนน็อกซินอล 9 (Nonoxynol-9) ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะช่องคลอดแห้ง
สุดท้าย การตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ การตรวจภายในเพื่อดูความผิดปกติของผนังช่องคลอด รวมถึงการตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน จะช่วยป้องกันภาวะพร่องฮอร์โมนได้