Do and Don’t สำหรับคนวัยทอง

Do and Don’t สำหรับคนวัยทอง

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะวัยทอง หรือ วัยหมดประจำเดือน คือ ภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศได้น้อยลง สามารถเกิดได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ในผู้หญิง อาการจะแสดงออกมากกว่า
  • ภาวะวัยทอง เพิ่มความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน  โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองเสื่อม
  • มีการศึกษาพบว่าการใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อรักษาภาวะวัยทองนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงควรปรึกษาและทำการรักษาโดยแพทย์เท่านั้น

ภาวะวัยทอง คืออะไร

ภาวะวัยทอง คือ ภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศได้น้อยลง ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสภาพลง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น  สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุอยู่ในช่วง 45-55 ปี  แต่ผู้หญิงจะแสดงอาการชัดเจนกว่า

สตรีวัยหมดประจำเดือน (Menopause) หรือ สตรีวัยทอง คือ ผู้หญิงที่สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร เนื่องมาจากการที่รังไข่หยุดการสร้างฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ส่งผลให้เกิดอาการวัยทองต่างๆ เช่น  ร้อนวูบวาบ  เหงื่อออก อารมณ์แปรปรวน รบกวนการนอนหลับ พลังงานลดลง รวมถึงร่างกายเริ่มมีการเสื่อมถอยลง น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นจากการที่ร่างกายมีการเผาผลาญน้อยลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองเสื่อมอีกด้วย

ซึ่งสตรีจะได้รับการวินิจฉัยว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็ต่อเมื่อประจำเดือนไม่มาต่อเนื่องครบ 1 ปีไปแล้ว ทั้งนี้ วัยหมดประจำเดือนสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 45 - 55 ปี โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 51 ปี นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้หญิงที่ได้รับการผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างออกก่อนที่จะถึงวัยหมดประเดือน  

วัยหมดประจำเดือน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause)
    เป็นระยะเวลาที่รังไข่เริ่มทำงานไม่ปกติ จนหยุดทำหน้าที่ไปในที่สุด ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอจนสิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี บางกรณีอาจมีอาการทางร่างกายต่างๆ เช่น ร้อนวูบวาบ  เหงื่อออก คลื่นไส้ และอารมณ์แปรปรวน
  2. วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
    นับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายต่อเนื่องไปเป็นเวลา 1 ปี
  3. วัยหลังหมดประจำเดือน (Postmenopause) 
    หลังจากวัยหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงของสรีระและเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้

อาการวัยทองของสตรี

อาการของสตรีวัยทองอาจเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือน หรือหลายปีก่อนจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างถาวร นั่นคือ ช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน (perimenopause) ซึ่งอาการแสดงทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนอาจแตกต่างกันไป  ดังนี้

อาการวัยทอง แสดงระยะสั้น

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หากมีอาการเลือดออกจากช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ควรรีบไปพบแพทย์
  • ช่องคลอดแห้ง
  • ร้อนวูบวาบ
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาในการนอน
  • อารมณ์แปรปรวน
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเผาผลาญน้อยลง
  • ผิวแห้ง ผมร่วง

อาการวัยทอง และความเสี่ยงในระยะยาว

  • โรคกระดูกพรุน การที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นทำให้กระดูกเปราะบาง เนื่องจากมีการสูญเสียความหนาแน่นของกระดูก ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่กระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น  เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นช่วยลดไขมันไม่ดีในเลือดได้ (LDL) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดูแลตนเองโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ลดอาหารมันๆ งดของทอด เบเกอรี่ และรักษาน้ำหนักตัวให้เป็นปกติ รวมถึงขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับวิธีป้องกันโรคหัวใจ
  • การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทส่วนกลาง  การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นลดลง การเคลื่อนไหวช้าลง ความทรงจำอาจเสื่อมถอยลง
  • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากเนื้อเยื่อของช่องคลอดและท่อปัสสาวะสูญเสียความยืดหยุ่น บางครั้งมีอาการปัสสาวะบ่อย รวมถึงการเพิ่มโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น
  • ช่องคลอดแห้ง เกิดการอักเสบของช่องคลอด มีอาการแสบและเจ็บในช่องคลอด
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบเผาผลาญทำงานน้อยลง

การรักษาภาวะวัยทอง

การรักษาภาวะวัยทองที่มีประสิทธิภาพนั้นมีหลายวิธี  ตั้งแต่การปรับวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี การรักษาตามอาการ ตลอดไปจนถึงการบำบัดด้วยฮอร์โมน ดังนี้

1. การใช้เจลหล่อลื่น  ยาเม็ดสำหรับสอดช่องคลอด กรณีช่องคลอดแห้ง

2. การใช้ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดข้อ ปวดศีรษะ

3. การใช้ยาลดอาการซึมเศร้าขนาดต่ำ โดยให้ใช้ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

4. การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy - HRT)
เป็นการรักษาเพื่อช่วยปรับสมดุลระดับฮอร์โมนของร่างกาย โดยให้ระดับยาไม่สูง ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป ยาที่ให้ประกอบด้วย  ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน โดยการให้ฮอร์โมนทดแทนมี 2 รูปแบบ ได้แก่

  • การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน กับ โปรเจสเตอโรน สำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่
  • การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว สำหรับผู้ที่ไม่มีมดลูกแล้ว

ทั้งนี้ การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งยาเม็ด หรือยาปรับฮอร์โมนวัยทอง แผ่นแปะผิวหนัง และเจลทาผิวหนังเฉพาะที่ ซึ่งสามารถช่วยลดอาการของวัยหมดประจำเดือนต่างๆ ได้ดี อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลพบว่าการใช้ฮอร์โมนบำบัดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคบางอย่างได้ โดยเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น โรคลิ่มเลือดอุดตัน ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โรคตับ และโรคมะเร็งเต้านม  อีกทั้งยังต้องระวังเรื่องมะเร็งในเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ควรทำ คือ การที่ต้องปรึกษา ทำการรักษา และตรวจติดตามกับแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น และทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนที่อาจเกิดขึ้นได้

5. ในกรณีกระดูกพรุน สามารถให้ยาที่รักษาโรคกระดูกพรุนโดยตรง ร่วมกับการรับประทานแคลเซียมและวิตามินดี

เคล็ดลับดูแลตัวเองของผู้ที่เข้าสู่วัยทอง มีดังนี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  ได้แก่  เนื้อปลา ผัก ผลไม้ และธัญพืช
  • ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
  • เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
  • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ฝึกการผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด และฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ บ่อยๆ
  • ในกรณีไม่สามารถผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเองได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เรื่องความวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน และ ปัญหาเพศสัมพันธ์ (ถ้ามี)
  • สร้างนิสัยการนอนที่ดี และ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และกระชับช่องคลอด (Kegel Exercises)
  • เข้าชมรม อาสาสมัคร หรือหางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และคัดกรองเบื้องต้น ในระหว่างและหลังวัยหมดประจำเดือน เช่น ตรวจเลือด ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจมะเร็งเต้านม เป็นต้น

แม้วัยทองจะเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของร่างกาย เป็นการก้าวผ่านจากวัยเจริญพันธ์เข้าสู่ช่วงสูงวัย จนส่งผลให้หลายคนกังวลใจ แต่การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับช่วงวัย รวมถึงหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคแทรกซ้อนอันตรายต่างๆ การพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการวัยทองและรับการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม จะช่วยให้ผ่านช่วงวัยทอง ไปได้ด้วยสุขภาพที่แข็งแรงและปราศจากโรคภัย

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?