ฮอร์โมนเพศหญิง ในทุกช่วงวัยและวัยหมดประจำเดือน

ฮอร์โมนเพศหญิง ในทุกช่วงวัยและวัยหมดประจำเดือน

Highlights:

  • หากมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป อาจทำให้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนง่าย มีการสะสมไขมันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน และเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งบางชนิดและไขมันในเส้นเลือด  
  • การใช้ฮอร์โมนเสริมเพื่อทดแทนฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างลดลงในผู้หญิงวัยทอง จะช่วยลดอาการต่าง ๆ รวมถึงป้องกันการเกิดกระดูกพรุนในระยะยาว แต่อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิด โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมีข้อห้ามในการใช้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนและพิจารณาการใช้ยา ไม่ควรซื้อฮอร์โมนทดแทนรับประทาน หรือทานบนผิวหน้าเอง

ฮอร์โมน (Hormones) คือสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ดำเนินไปได้ตามปกติ นอกจากเพศหญิงและชายจะมีฮอร์โมนแตกต่างชนิดซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน ปริมาณและการทำหน้าที่ของฮอร์โมนในแต่ละช่วงอายุก็ยังแตกต่างกันไปอีกด้วย ฮอร์โมนเพศหญิง ที่สำคัญได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน FSH และ LH ดังนี้ 

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่สำคัญ ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง ผลิตจากรังไข่เป็นส่วนใหญ่ และมีส่วนน้อยที่ผลิตจากต่อมหมวกไตและเซลล์ไขมัน โดยจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเพศ ลักษณะของเพศหญิง การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และการหมดประจำเดือน  

ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ 15-350 pg/mL โดยจะแตกต่างกันในช่วงของการตกไข่และมีประจำเดือน  

ส่วนในวัยหมดประจำเดือนจะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดต่ำลงที่ <10 pg/mL หากมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไปอาจทำให้มีการสะสมไขมันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน ทำให้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนง่าย และเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งบางชนิดและไขมันในเส้นเลือด  

อาการของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุล เช่น  

  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ  
  • อาการก่อนประจำเดือนที่ผิดปกติ (Premenstruation syndrome – PMS)  
  • อารมณ์แปรปรวน 
  • หงุดหงิดง่าย  
  • นอนหลับยาก  
  • ไม่มีสมาธิ  
  • กระดูกเปราะบาง และหักง่าย
  • ช่องคลอดแห้งและฝ่อตัว มีผลต่อเพศสัมพันธ์ เกิดถุงน้ำ เนื้องอกที่เต้านม มดลูก รังไข่ได้  

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ถูกสร้างจากรังไข่ในช่วงหลังไข่ตก และบางส่วนจากรก โดยจะมีหน้าที่ควบคุมภาวะไข่ตก และการมีประจำเดือน กระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่ได้รับการผสมจากไข่และอสุจิแล้ว ดูแลการตั้งครรภ์ ควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกาย  

โดยระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงของการตกไข่และตั้งครรภ์ หากมีความผิดปกติของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในช่วงก่อนการตั้งครรภ์อาจทำให้มีผลต่อการตั้งครรภ์ เนื่องจากไข่ที่ได้รับการผสมไม่สามารถฝังตัวได้ และหากมีความผิดปกติของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ 

ฮอร์โมน Follicular stimulating hormone (FSH)

ฮอร์โมน Follicular stimulating hormone (FSH) สร้างจากต่อมใต้สมอง เพื่อกระตุ้นให้ไข่มีการเจริญเติบโตและพร้อมต่อการผสมกับอสุจิ รวมถึงมีผลต่อการเติบโตทางเพศในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หากฮอร์โมน FSH ผิดปกติจะทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตของไข่และอาจมีผลต่อความสามารถในการสืบพันธุ์ได้ 

ฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH)

ฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) สร้างจากต่อมใต้สมอง มีหน้าที่กระตุ้นให้ไข่ที่เจริญเต็มที่แล้วตกจากรังไข่เพื่อพร้อมรับการผสมกับอสุจิ หากระดับฮอร์โมน LH ต่ำเกินไปจะทำให้ไม่มีการตกไข่ ส่งผลต่อความสามารถในการสืบพันธุ์ แต่หากมีมากเกินไปก็อาจส่งผลต่อการเกิดซีสต์หรือถุงน้ำในรังไข่ได้ 

ฮอร์โมนเพศหญิง อื่น ๆ

  • เอ็นโดรฟิน (Endorphin) 
    เอ็นโดรฟิน (Endorphin) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมองเมื่อร่างกายมีความสุข ความพอใจ ความผ่อนคลาย หากร่างกายมีความเครียดฮอร์โมนชนิดนี้จะลดลง เราสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนเอ็นโดรฟินได้โดยการทำกิจกรรมที่ทำให้มีความสุข ผ่อนคลาย เช่น กิจกรรมที่ชอบ ออกกำลังกาย หรือนั่งสมาธิให้เกิดความสงบ 
  • เซโรโทนิน (Serotonin) 
    เซโรโทนิน (Serotonin) หลั่งจากสมองและบางส่วนจากทางเดินอาหาร ช่วยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมณ์ พฤติกรรม เป็นฮอร์โมนสำคัญในการช่วยให้นอนหลับ  
    หากระดับฮอร์โมนเซโรโทนินต่ำเกินไปอาจส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ มีอาการปวดศีรษะ หากเป็นระยะเวลานานอาจมีผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้  
    การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะกลุ่มโปรตีนสามารถเพิ่มและรักษาระดับฮอร์โมนเซโรโทนินได้ 
  • คอร์ติซอล (Cortisol) 
    คอร์ติซอล (Cortisol) เป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไต จะถูกหลั่งมากขึ้นเมื่อร่างกายมีภาวะเครียด มีเหตุการณ์คับขัน มีเรื่องวิตกกังวล หรือมีความเจ็บป่วยของร่างกาย เมื่อเกิดภาวะดังกล่าวฮอร์โมนคอร์ติซอลจะถูกหลั่งเพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมต่อการฟื้นฟู กระตุ้นการสร้างน้ำตาลเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ควบคุมระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย  
    การนอนหลับพักผ่อนอย่างเป็นเวลาจะช่วยให้ระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลคงที่ เนื่องจากฮอร์โมนคอร์ติซอลจะมีระดับสูงในช่วงเช้าหลังตื่นนอนและจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงบ่าย 
  • อะดรีนาลีน (Adrenaline) 
    อะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือ เอพิเนฟริน (Epinephrine) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไต จะถูกหลั่งเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะฉุกเฉิน คับขัน เตรียมพร้อมให้ร่างกายใช้พลังงาน จะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น  
    โดยปกติร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้มากขึ้นเฉพาะเวลาที่มีภาวะฉุกเฉินหรือถูกกระตุ้น แต่หากมีความผิดปกติอาจทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วและความดันโลหิตสูงเรื้อรังได้

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ในช่วงวัยทอง

วัยทอง หรือ วัยหมดประจำเดือน เป็นวัยที่เพศหญิงหยุดการมีประจำเดือน และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งอายุของวัยทองจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 48-52 ปี  

หรืออาจเกิดจากการผ่าตัดนำรังไข่ทั้งสองข้างออก ทำให้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ หรือเกิดจากโรคบางชนิด หรือการใช้ยาเคมีบำบัดช่วงก่อนที่จะหมดประจำเดือน จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน  

อาการวัยทอง เช่น  

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ  
  • ร้อนวูบวาบ  
  • เหงื่อออก  
  • วิตกกังวล  
  • ใจสั่น  
  • มีปัญหาด้านการนอนหลับ  
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง  
  • หงุดหงิดง่าย  
  • ช่องคลอดแห้ง  
  • ติดเชื้อและคันในช่องคลอด  
  • เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์  

ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจเกิดได้เป็นเวลาตั้งแต่ 2 – 8 ปี และโดยเฉลี่ยที่ 4 ปี  

เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างสมบูรณ์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และเทสโทสเทอโรนลดลงอย่างมาก และฮอร์โมน follicle stimulating hormone (FSH) และ Luteinizing hormone (LH) จะเพิ่มขึ้น ทำให้มีผลต่อความรู้สึกทางเพศ มีการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง มวลกระดูกบางลงส่งผลให้กระดูกเปราะ แตกง่าย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือด และหลอดเลือดสมอง  

การตรวจวินิจฉัยอาการวัยทอง

การตรวจระดับฮอร์โมนจะสามารถวินิจฉัยภาวะหมดประจำเดือนได้ โดยจะพบว่ามีระดับฮอร์โมน FSH ที่สูงขึ้น และฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิด estradiol (E2) ลดลง 

การดูแลในช่วงวัยทอง และ การใช้ฮอร์โมนเสริม 

แม้การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่าง ๆ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เป็นปกติ แต่ระดับฮอร์โมนที่ลดลงอาจส่งผลให้เกิดอาการที่ไม่สุขสบาย เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ช่องคลอดแห้ง การลดความรู้สึกและอารมณ์ทางเพศ  

รวมถึงความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น กระดูกพรุน เพิ่มมากขึ้น หากอาการต่าง ๆ เป็นไม่มาก ร่างกายสามารถปรับตัวเพื่อให้ตอบสนองอย่างเหมาะสมได้  

ฮอร์โมนทดแทน วัยทอง มีกี่ชนิด 

อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีอาการรุนแรง การใช้ฮอร์โมนเสริมเพื่อทดแทนฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างลดลง จะช่วยลดอาการต่าง ๆ รวมถึงป้องกันการเกิดกระดูกพรุนในระยะยาว โดยฮอร์โมนที่ใช้มีทั้งกลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และมีทั้งในรูปแบบการรับประทาน แผ่นแปะ เจล หรือเจลหล่อลื่นสำหรับใช้รักษาภาวะช่องคลอดแห้งโดยเฉพาะ ปริมาณของฮอร์โมนในแต่ละรูปแบบมีขนาดแตกต่างกันไป  

ทั้งนี้ การใช้ฮอร์โมนทดแทนอาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิดและโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมีข้อห้ามในการใช้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม จึงควรมีการปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนและพิจารณาการใช้ยา รวมถึงปรับขนาดอย่างอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม ไม่ควรซื้อฮอร์โมนทดแทนรับประทานเอง 

นอกจากนี้ หากมีอาการของวัยหมดประจำเดือนอาจปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้ด้วย เช่น ยากลุ่ม SSRIs, SNRIs และยากลุ่ม selective estrogen receptor modulators (SERMS) เป็นต้น 

คำแนะนำการดูแลสุขภาพในช่วงวัยทอง โดยไม่ใช้ยา หรือฮอร์โมนทดแทน

ในผู้ที่ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน อาจดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้นดังนี้ 

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ รับแสงแดดในยามเช้าเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน โดยร่างกายควรได้รับวิตามินดีอย่างน้อย 800-1,000 U ต่อวัน และควรได้รับแคลเซียมในปริมาณ 1,000-1,200 มก. ต่อวัน 
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ  
  3. ลดหรืองดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  4. งดสูบบุหรี่ 

การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสังเกตอาการของร่างกายเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง การป้องกันและรักษาภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลหรือการขาดฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนในระยะเริ่มต้นมีความสำคัญในการป้องกันโรคกระดูกพรุนและภาวะอื่น ๆ ที่สำคัญในระยะยาว 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?