กระดูกพรุนในผู้สูงอายุ ภัยเงียบที่ห้ามมองข้าม

กระดูกพรุนในผู้สูงอายุ ภัยเงียบที่ห้ามมองข้าม

Highlight:

  • ภาวะกระดูกพรุน พบได้มากหลังอายุ 50 ปีและพบมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะกระดูกพรุน ผู้ที่มีรูปร่างเล็กหรือผอม ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด
  • การมีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ทั้งจากโรคฮอร์โมนไทรอยด์เกินและการกินฮอร์โมนไทรอยด์รักษาโรคไทรอยด์พร่องทำให้เกิดการทำลายของกระดูกมากขึ้น 
  • การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก  กล้ามเนื้อ แร่ธาตุ และ %ไขมัน แบบละเอียด Advance Bone Densitometer จะเป็นการตรวจที่มีปริมาณรังสีต่ำ ใช้เวลาตรวจเพียง 5 นาที มีความแม่นยำมากกว่าวิธีอื่นๆ ถึง 40%

ภาวะกระดูกพรุน หมายถึงภาวะที่องค์ประกอบของเนื้อกระดูกมีความบางลง จนบางครั้งอาจมีการเปราะและแตกหักง่ายกว่าปกติ อาการของโรคกระดูกพรุนนี้มักค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันได้สังเกตเห็น  และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแตก หัก ร้าว ของกระดูก เกิดความพิการ เคลื่อนไหวลำบาก  และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย จึงควรป้องกัน และรักษาภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น

ใครที่เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน

ภาวะกระดูกพรุนพบได้มากหลังอายุ 50 ปีและพบมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 

  • เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน 
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะกระดูกพรุน 
  • ผู้ที่มีรูปร่างเล็กหรือผอม 
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคระบบต่อมไร้ท่อที่กระทบกับฮอร์โมนไทรอยด์ พาราไทรอยด์ เบาหวาน โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเลือดหรือมะเร็งบางชนิด 
  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์ ยากันชักบางชนิด ฮอร์โมนที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร 
  • การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก 
  • ผู้ที่ไม่ได้รับแคลเซียม หรือ วิตามินดีอย่างพอเพียง 
  • ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย 
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นต้น

สาเหตุของภาวะกระดูกพรุน

โดยปกติกระดูกจะมีการทำลายและสร้างตัวเองใหม่อยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาความแข็งแรงของเนื้อกระดูก เมื่ออายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยอื่น ๆ มากระทบจะทำให้ความสามารถในการสร้างเนื้อกระดูกน้อยกว่าอัตราในการทำลาย มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง เนื้อกระดูกมีความแข็งแรงลดลง บาง เปราะ และแตกง่ายขึ้น

ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงทำให้กระดูกพรุนได้

ฮอร์โมนบางชนิดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายและซ่อมแซมของกระดูก การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนสามารถส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ เช่น

  • ฮอร์โมนเพศ การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในหญิงวัยหมดประจำเดือนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน การใช้ฮอร์โมนรักษามะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งส่งผลทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนลดลง และการใช้ฮอร์โมนรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้
  • ฮอร์โมนไทรอยด์ การมีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปทั้งจากโรคฮอร์โมนไทรอยด์เกินและการกินฮอร์โมนไทรอยด์รักษาโรคไทรอยด์พร่อง ทำให้เกิดการทำลายของกระดูกมากขึ้น 
  • ฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมนพาราไทรอยด์และการทำงานของต่อมหมวกไตที่มากเกินไป

ภาวะแทรกซ้อนจากการเกิดภาวะกระดูกพรุน

ภาวะกระดูกพรุนทำให้กระดูกเปราะและหักง่าย บางครั้งแม้การล้มธรรมดาก็อาจเกิดภาวะกระดูกหักได้ ในบางรายอาจมีการยุบตัวของกระดูกสันหลัง แม้ไม่ได้มีการบาดเจ็บใด ๆ

การตรวจหาภาวะกระดูกพรุน

การวินิจฉัยทำได้โดยการใช้เครื่องเอกซเรย์ชนิดพิเศษเพื่อประเมินความหนาแน่นของกระดูก (DEXA หรือ DXA scan) ซึ่งสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วโดยไม่ต้องมีการเจาะหรือตรวจเลือด

การสแกน CT แบบพิเศษที่ใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบความหนาแน่นของกระดูกของสะโพกหรือกระดูกสันหลัง

การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก กล้ามเนื้อ แร่ธาตุ และ %ไขมัน แบบละเอียด Advance Bone Densitometer จะเป็นการตรวจที่ใช้ปริมาณรังสีต่ำ สแกนเพียง 5 นาที มีความแม่นยำมากกว่าระบบอื่นๆ ถึง 40% 

คะแนนความรุนแรงของกระดูกพรุน T , Z- score

  • T-score คือความแตกต่างระหว่างความหนาแน่นของมวลกระดูกกับ 0 ซึ่งเป็นความหนาแน่นของมวลกระดูกของคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี
  • ความเสี่ยงต่อกระดูกหักเพิ่มขึ้น 1.5 ถึง 2 เท่า ในแต่ละคะแนน T ที่ลดลง 1 จุด
  • ยิ่งคะแนน T-score  ต่ำ ความเสี่ยงต่อกระดูกหักก็จะยิ่งสูงขึ้น     
  • Z-score คือความแตกต่างระหว่างความหนาแน่นของมวลกระดูกกับความหนาแน่นของมวลกระดูกโดยเฉลี่ยสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีในช่วงอายุ เชื้อชาติ และเพศเดียวกัน
    1. สำหรับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนหรือผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป 
      ผลการทดสอบความหนาแน่นของมวลกระดูกจะเป็น T-score
      • 1 หรือสูงกว่า กระดูกปกติแข็งแรง
      • –1 ถึง –2.5 เป็นโรคกระดูกบาง
      • –2.5 หรือต่ำกว่า อาจเป็นโรคกระดูกพรุน
        ​​​​​​​
    2. หากคุณเป็นผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนหรือผู้ชายที่อายุน้อยกว่า 50 ปี 
      ผลการทดสอบความหนาแน่นของมวลกระดูกจะเป็น  คะแนน Z   
      หากคะแนน Z =   –2.0 หรือน้อยกว่า แสดงว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ 

ใครควรตรวจหาความเสี่ยงกระดูกพรุน

  • ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและมีโอกาสกระดูกหักสูง
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว อายุน้อยกว่า 65 ปี และมีสิ่งอื่นที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้มากขึ้น
  • ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไปและมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
  • กระดูกหัก หลังอายุ 50 ปี 
  • ความสูงลดลง มากกว่า 1.5 นิ้ว
  • ท่าทางโค้งงอมากขึ้น หลังโก่ง
  • มีอาการปวดหลังโดยไม่มีสาเหตุ
  • ประจำเดือนหยุด หรือมาไม่ปกติ แม้จะไม่ได้ตั้งครรภ์หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน
  • ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • มีระดับฮอร์โมนลดลง  ในผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน  ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ลดลง และในผู้ชายที่มีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ลดลง

การรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ

  1. การรักษาโรคกระดูกพรุนมีทั้งการรักษาโดยการไม่ใช้ยา เช่น
    • การออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อซึ่งทำหน้าที่ช่วยพยุงและดูดซับแรงที่กระทำต่อกระดูก ผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม
    • วิตามินและแคลเซียม การใช้วิตามินดีและแคลเซียมสามารถช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินดีและแคลเซียมมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง เกิดการก่อตัวของแคลเซียมในหลอดเลือดแดง หลอดเลือดแดงแข็งตัว ระดับคอเลสเตอรอลสูง ปวดท้อง ท้องเสีย ตะคริว จึงควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับขนาดและชนิดที่เหมาะสม
  2. การรักษาโรคกระดูกพรุนโดยการใช้ยา เช่น
    • ยากลุ่ม Bisphosphonates
    • ยากลุ่ม Calcitonin
    • ฮอร์โมนกลุ่มเอสโตรเจนหรือพาราไทรอยด์ 
    • ซึ่งการใช้ยาและฮอร์โมนเหล่านี้ ควรสั่งโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงได้

หากมีอาการปวดหลัง การรรับประทานวิตามินจำเป็นหรือไม่

อาการปวดหลังอาจเป็นได้จากหลายสาเหตุทั้งกล้ามเนื้อและกระดูก อย่างไรก็ตาม การกินวิตามินช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก แต่ไม่ได้ช่วยรักษาภาวะกระดูกสันหลังยุบหรือการปวดหลังจากสาเหตุอื่น ๆ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป

References

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?