การหกล้มในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นง่ายและใกล้ตัวมาก ด้วยร่างกายของผู้สูงอายุเริ่มเสื่อมสภาพลง ไม่ว่าจะเป็น สมอง สายตา กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
เมื่อผู้สูงอายุหกล้ม แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาส่วนใหญ่หนีไม่พ้นเรื่องของ “กระดูกหัก” เนื่องจากคุณภาพกระดูกของผู้สูงอายุนั้นแย่ลง ขาดความหนาแน่นของมวลกระดูก ทำให้กระดูกเปราะและแตกหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง กระดูกข้อสะโพก และกระดูกข้อมือ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมในเวลาที่รวดเร็ว อาจต้องพบกับภาวะแทรกซ้อนตามมามากมาย และสุดท้ายอาจอันตรายถึงชีวิตได้
กระดูกสะโพกหัก พบบ่อยในอุบัติเหตุผู้สูงอายุหกล้ม โดยจะแสดงอาการปวดบริเวณสะโพก จนไม่สามารถลงน้ำหนักได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีรอยช้ำที่บริเวณต้นขา และปลายขาผิดรูป เช่น ขาสั้นลง และปลายเท้าหมุนออกด้านนอก ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม
การรักษากระดูกสะโพกหักนั้น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว หากต้องผ่าตัด (ผู้ป่วยที่ไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด) ควรทำการผ่าตัดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการทำกายภาพบำบัดการฝึกเดินและทรงตัว เพื่อฟื้นสภาพร่างกายให้ได้มากและเร็วที่สุด
หากผู้สูงอายุสะโพกหักแล้วละเลยไม่รับการรักษา นอกจากจะทำให้กระดูกที่หักนั้นติดกันแบบผิดรูป หรือกระดูกอาจไม่สามารถติดกันเหมือนเดิมได้อีก อาจส่งผลเสียให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียงเป็นเวลานาน เช่น แผลกดทับ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อทางเดินหายใจ และภาวะลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดดำใหญ่ที่ขา ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาอย่างไม่น่าเกิดขึ้น
***สำคัญที่สุดคือไม่ควรอุ้มหรือขยับตัวผู้สูงอายุที่หกล้มเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้
การดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่คนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องคอยระมัดระวังป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุอยู่เสมอ ค้นหาความเสี่ยงของการหกล้ม ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เพราะผลของการหกล้มนั้นอันตรายกว่าที่คิด นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บที่ค่อนข้างรุนแรงและมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่