เมื่อต้องเริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ พบว่าปัญหาสุขภาพก็มักเกิดตามมาทั้งการเจ็บป่วยที่บ่อยขึ้น รุนแรงมากขึ้น โรคประจำตัวมากขึ้น ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีความจำเป็นในการใช้ยาหลายขนาน จนหลายครั้งผู้สูงอายุบางรายก็มีความกังวลใจ และเลี่ยงที่ไม่ใช้ยาเหล่านั้น เนื่องจากเกรงว่ายาซึ่งเป็นสารเคมีอย่างหนึ่ง หากได้รับเข้าไปมากหรือเป็นเวลานาน จะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้มากกว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
การใช้ยาในผู้สูงอายุนั้นมีความละเอียดอ่อนมากกว่าในบุคคลทั่วไป เนื่องจากร่างกายมีการตอบสนองต่อยาที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ความสูงวัยทำให้ การดูดซึมยาลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการไหลเวียนเลือดที่ทางเดินอาหารน้อยกว่าเดิม มีน้ำย่อยในทางเดินอาหารน้อยลง นอกจากนี้เมื่ออายุมากขึ้น สัดส่วนของเนื้อเยื่อไขมันจะเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ยานอนหลับบางชนิดเช่น ไดอะซีแพม (diazepam) ซึ่งชอบจับกับเนื้อเยื่อไขมัน อยู่ในร่างกายนานขึ้น และมีฤทธิ์นานกว่าเดิม
ในส่วนของการกำจัดยาออกจากร่างกายนั้นพบว่า ผู้สูงอายุจะมีการเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ ตับมีขนาดเล็กลง เลือดที่ไปตับน้อยลง ปริมาณและความสามารถของเอ็นไซม์ในตับในการเปลี่ยนสภาพยาลดน้อยลง จำนวนหน่วยกรองในไตน้อยลง และเลือดที่มายังไตน้อยลง เป็นผลให้ยาถูกกำจัดออกทางตับและไต ได้น้อยลง และยามีระดับในเลือดสูงและอยู่นานกว่าในคนทั่วไป ดังนั้นการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ จึงต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมตามสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ภายใต้การดูแลของแพทย์ และเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
อาหารเสริม หรือยาสมุนไพรต่างๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ยา ดังนั้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด สุดท้ายนี้ไม่ว่าเราจะอายุมากขึ้นหรือมีปัญหาสุขภาพ ต้องใช้ยาวันละหลายๆอย่าง แต่หากเราใช้ยาอย่างถูกวิธี ไม่ขาดยาหรือรับประทานยาเกินที่กำหนด มาตรวจติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เราก็สามารถเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดี และดูแลตัวเองได้ดีอย่างมีประสิทธิภาพได้เช่นกัน
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่