ไมเกรนในผู้สูงอายุ

ไมเกรนในผู้สูงอายุ

HIGHLIGHTS:

  • เมื่ออายุมากขึ้น การปวดศีรษะไมเกรนจะลดน้อยลง เนื่องมาจากภาวะฮอร์โมนในร่างกายบางอย่างลดลง แต่ก็ยังพบการปวดศีรษะไมเกรนได้ใน ผู้สูงอายุ
  • การวินิจฉัยและรักษาอาการไมเกรนในผู้สูงอายุมีความซับซ้อน เนื่องจากผู้สูงอายุอาจมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องใช้ยารับประทานเป็นประจำ และยังต้องระวังการปวดศีรษะที่มาจากภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง โรคมะเร็ง หรือ โรคหลอดเลือดสมองด้วย

โดยธรรมชาติแล้วเมื่ออายุมากขึ้น อุบัติการณ์ของการปวดศีรษะไมเกรนจะลดน้อยลง อันเนื่องมาจากภาวะฮอร์โมนในร่างกายบางอย่างลดลง แต่ก็ยังพบการปวดศีรษะไมเกรนได้ในผู้สูงอายุ โดยความสำคัญของการวินิจฉัยและรักษานั้นค่อนข้างจะมีความซับซ้อน เนื่องจากผู้สูงอายุอาจมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องใช้ยารับประทานเป็นประจำ และยังต้องระวังการปวดศีรษะที่มาจากภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง

สาเหตุของไมเกรนในผู้สูงอายุ

ภาวะปวดศีรษะไมเกรน เกิดจากการส่งกระแสไฟฟ้าบริเวณผิวสมองผิดปกติ  ส่งผลให้สมองไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเมื่อสมองถูกกระตุ้นจะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดในสมอง อีกทั้งยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมองให้หลั่งสารสื่อประสาทบางชนิดที่ทำให้หลอดเลือดสมองขยายตัวและเกิดการอักเสบ จนเป็นผลทำให้ปวดศีรษะ

สิ่งกระตุ้นที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่ ความเครียด พักผ่อนน้อย การสูดกลิ่นหรือควัน แสงแดด อากาศร้อนหรือหนาวจัด รวมถึงอาหารบางชนิด เช่น ของหมักดอง  ชีส และไวน์  ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตและพยายามหลีกเลี่ยง

นอกจากนี้หากไม่ได้รับการรักษาหรือเข้ารับการรักษาช้า สมองจะปรับระบบรับความเจ็บปวดในสมองให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น และมีความถี่มากขึ้น จนในที่สุดจะไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดอีกต่อไป

อาการปวดศีรษะไมเกรน

อาการปวดศีรษะจำเพาะของภาวะปวดศีรษะไมเกรน มีดังนี้

  • ปวดศีรษะรุนแรงแบบตุ้บๆ คล้ายเส้นเลือดบีบตัว
  • มักเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่ง อาจย้ายข้างได้ หรือปวดทั้ง 2 ข้าง
  • อาการปวดมักรุนแรงขึ้น เมื่อทำกิจกรรม เช่น การเดินหรือขึ้นบันได การก้มหรือเงยศีรษะ
  • อาการปวดจะบรรเทาลง หากได้พักผ่อนอยู่นิ่งๆ ในห้องที่มืดและเย็น
  • หากไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับรักษาไม่ถูกวิธี จะปวดศีรษะอยู่นานถึง 4-72 ชั่วโมง
  • อาการคลื่นไส้ หรืออาเจียน ร่วมกับภาวะปวดศีรษะรุนแรง
  • การมองเห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นภาพคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง เห็นเป็นแสงวาบๆ (Flashing) เห็นแสงจ้า
  • การได้รับกลิ่นบางอย่าง เช่น สี น้ำหอม จะเป็นตัวกระตุ้นการปวดศีรษะได้ง่าย

สัญญาณเตือน อาการปวดศีรษะที่ผู้สูงอายุควรพบแพทย์ทันที

  • ปวดศีรษะแบบเฉียบพลันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • เริ่มปวดศีรษะรุนแรงครั้งแรกเมื่ออายุเกิน 50 ปี
  • การปวดศีรษะมีความรุนแรงมากขึ้น และระยะเวลาการปวดนานขึ้น
  • มีไข้ เวียนศีรษะ อาเจียน
  • อาการปวดศีรษะไม่ทุเลาลง แม้จะรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ตาม
  • รู้สึกอ่อนเพลีย แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตาพร่ามัว
  • อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน อัมพฤกษ์ ความดันโลหิตสูง

โดยเมื่อพบว่ามีการปวดศีรษะตามอาการข้างต้นนี้ ควรรีบมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ เนื่องจากอาการปวดศีรษะเหล่านี้ อาจไม่ใช่การปวดจากไมเกรน อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก(อัมพฤกษ์) เนื้องอกในสมอง ซึ่งล้วนแต่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเจาะเลือด การนำน้ำไขสันหลังไปตรวจ การทำ CT Scan หรือ MRI เพื่อดูเนื้อสมองและหลอดเลือดในสมอง

การวินิจฉัยภาวะปวดศีรษะไมเกรน

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและซักประวัติถึงอาการปวดศีรษะ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะร่วมกับความผิดปกติทางสายตา รวมถึงมีประวัติครอบครัวมีภาวะไมเกรน หรือปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง อาจส่งตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งพบไม่บ่อยนัก อาจต้องพิจารณาหาสาเหตุเพิ่มเติม

การรักษาภาวะปวดศีรษะ ไมเกรน

การรักษาภาวะปวดศีรษะไมเกรน มี 2 จุดประสงค์หลัก ดังนี้

  1. การรักษาอาการปวดศีรษะแบบเฉียบพลัน ใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดศีรษะเท่านั้น โดยผลในการรักษาอาการปวดศีรษะที่ดีคือรับประทานยาหลังเริ่มมีอาการทันที เช่น พาราเซตามอล ยาลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอด์ (NSAIDs) รวมถึงยาที่ออกฤทธิ์บริเวณเส้นเลือดสมองโดยตรง เช่น ยากลุ่มทริปแทน (triptan) และยาที่มีส่วนผสมของเออโกทามีน (ergotamine)

2. การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ส่วนใหญ่ต้องรับประทานยาติดต่อกันทุกวัน เช่น

  • กลุ่มยากันชัก
  • กลุ่มยาลดความดันโลหิต
    – กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม
    – กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับเบต้า
  • กลุ่มยาคลายความกังวล ความเครียด ที่รักษาโรคไมเกรนในบางกรณี

การป้องกันอาการ ไมเกรน ในผู้สูงอายุ

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลากหลาย เน้นอาหารกากใยสูง
  • ออกกำลังกายเบาๆ ที่เหมาะสม หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • ไม่ซื้อยาแก้ปวด หรือยารักษาอาการอื่นๆ มารับประทานเองโดยเด็ดขาด
  • ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่พบความผิดปกติของร่างกาย หรือมีอาการปวดศีรษะรุนแรง

ผู้สูงอายุมีอาการปวดศีรษะไมเกรนไม่บ่อยเท่าวัยหนุ่มสาว แต่ก็ยังถือว่าเป็นปัญหาที่พบได้พอสมควร อีกทั้งยังมีอาการแสดงออก ตลอดจนการรักษาที่ค่อนข้างซับซ้อนมากกว่า เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย  ดังนั้นหากสังเกตว่าอาการปวดศีรษะมีความรุนแรง หรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยไม่ซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?