นอกจากนี้ยังพบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ที่ไม่ได้มีการรายงานอย่างเป็นทางการมีไม่ต่ำกว่า 3,000 คน โดยมักเกิดกับผู้สูงอายุวัย 45 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี แต่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตามหากคนไทยยังไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองก่อนที่จะเป็นมะเร็งลำไส้จะส่งผลให้มีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าใน 10 ปี
จากสถิติและตัวเลขดังกล่าวอาจสร้างความตกใจให้หลายคน แต่อย่างไรก็ตามมะเร็งร้ายตัวนี้สามารถตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หากพบติ่งเนื้อ (Polyp) ที่ลำไส้ใหญ่ก่อนที่จะเป็นมะเร็งและตัดทิ้งได้มากกว่า 90 % หรือถ้าเป็นมะเร็งในระยะต้นๆ ยังสามารถรักษาได้หายขาด
สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่
การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเริ่มจากกลุ่มติ่งเนื้อชนิดอะดีโนมาทัส (adenomatous polyps) ซึ่งเป็นติ่งเนื้อที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิด โดยพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และมีโอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แพทย์จึงมักแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำ หากตรวจพบติ่งเนื้อดังกล่าวจะได้ตัดทิ้งก่อนที่จะกลายเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกก็สามารถรักษาก่อนมะเร็งจะแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ถือเป็นการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้ผลวิธีหนึ่ง