คุยกันเรื่องมะเร็งทีไรเป็นต้องกลุ้มใจทุกที เพราะยุคสมัยนี้เห็นผู้คนมากมาย มักลงท้ายด้วยการป่วยเป็นโรคมะเร็งกันแทบทั้งนั้น อย่าว่าแต่คนแก่เลย หนุ่มๆ สาวๆ ก็ยังเป็นมะเร็งให้เห็นกันอยู่ไม่ใช่น้อย เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมผู้คนสมัยนี้ถึงเป็นมะเร็งกันเยอะแยะไปหมด ทั้งๆ ที่วงการแพทย์ก็พัฒนาไปมากจากเมื่อก่อน
มนุษย์กับมะเร็งนั้นเป็นของคู่กัน เพราะมนุษย์เราทุกคนมีเซลล์มะเร็งเป็นเพื่อนมาแต่กำเนิด อยู่ที่ว่าเซลล์มะเร็งนั้นจะแผลงฤทธิ์ตอนไหน แล้วร่างกายเราจะสามารถปราบเจ้ามะเร็งได้หรือไม่
“มะเร็ง” เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ที่มีความเปลี่ยนแปลงของยีนและสารพันธุกรรม เซลล์มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ วัน ถ้าเซลล์มีการเปลี่ยนแปลงน้อยๆ ร่างกายสามารถตรวจจับได้ เม็ดเลือดขาวก็จะทำหน้าที่เป็นหน่วยคุ้มกัน เข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งเหล่านั้นออกจากร่างกายไปให้หมด คนคนนั้นจึงไม่เป็นมะเร็ง แต่สำหรับบางคนเซลล์มีความผิดปกติมาก พัฒนาเติบโตแข็งแรง จนเม็ดเลือดขาวไม่สามารถจะต่อกร หรือกำจัดออกไปจากร่างกายได้ เซลล์มะเร็งจึงอยู่ในร่างกายเราและเจริญเติบโต แบ่งเซลล์อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย หรือมะเร็งนั่นเอง
ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งนั้นมีประสิทธิภาพสูง ใช้วิธีการรักษาแบบผสมผสาน มีหลักๆ อยู่ 3 วิธี คือ การผ่าตัด การฉายแสง และการรักษาด้วยยาหรือเคมีบำบัด โดยดูจากระยะของโรคเป็นหลัก
การผ่าตัดและการฉายแสง เป็นการรักษาเฉพาะที่ ในกรณีที่เป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น การรักษาด้วยการผ่าตัด จะเป็นวิธีที่ทำให้หายขาดได้มากที่สุด เพราะในระยะแรกเซลล์มะเร็งจะยังไม่ไปรุกรานอวัยวะอื่นๆ การผ่าตัดจึงเป็นการกำจัดที่ต้นตอ สามารถรักษาได้หายขาด แต่การจะรู้ได้ว่าเป็นมะเร็งในระยะแรกส่วนใหญ่มาจากการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ละเลย และไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพ พอมารู้อีกทีก็เป็นมะเร็งระยะท้ายๆ กันไปแล้ว
สำหรับมะเร็งในระยะท้ายๆ (ระยะ 4) ส่วนใหญ่มะเร็งจะกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงหรืออวัยวะอื่นๆ จึงต้องรักษาด้วยการให้เคมีบำบัด ซึ่งเป็นลักษณะของการกราดยิงเพื่อกวาดล้างมะเร็งนั้นให้สิ้นซาก เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะไปหลบซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง แต่การกราดยิงแบบนี้ไม่ใช่เพียงผู้ร้ายเท่านั้นที่ตาย แต่ผู้บริสุทธิ์อย่างเซลล์ที่ดีในร่างกายกลับต้องพลอยฟ้าพลอยฝนรับลูกหลงไปด้วย ส่งผลข้างเคียงทำให้ผมร่วง แผลในปาก อ่อนเพลีย ผู้เป็นมะเร็งส่วนใหญ่จึงมักกลัวและเข็ดขยาดกับการให้เคมีบำบัด
ปัจจุบันยา Targeted Therapy มีบทบาทในการรักษามะเร็งอย่างมาก ด้วยประสิทธิภาพในการรักษาสูงเมื่อเทียบกับการให้เคมีบำบัดที่ได้ผลประมาณ 30% ในขณะที่การใช้ยา Targeted Therapy สามารถได้ผลสูงถึง 80% ยา Targeted Therapy เปรียบเสมือนสไนเปอร์ที่คอยซุ่มยิงเป้าหมายอย่างแม่นยำให้มะเร็งตายไปได้อย่างตรงจุด ผู้บริสุทธิ์จึงไม่ต้องล้มตาย เซลล์ที่ดีจึงไม่ต้องถูกทำลายไปด้วย แต่ใช่ว่าทุกคนที่เป็นมะเร็งจะสามารถรับการรักษาด้วยยา Targeted Therapy ได้ทุกคน
การรักษามะเร็งด้วยยา Targeted Therapy ให้ได้ผลดีต้องได้รับผลการตรวจที่แม่นยำ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียด เพราะอาการของคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน การรักษาจึงต้องแตกต่างกันออกไป โดยใช้แนวทางการรักษาแบบ “Precision Medicine” หรือการแพทย์เฉพาะเจาะจง ทำให้รักษาได้ตรงจุดมากขึ้น ประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น ผลที่ได้จึงดีขึ้นตามไปด้วย
ทำอย่างไรให้ห่างไกลมะเร็ง
แปลกไหมในขณะที่วงการแพทย์มีการพัฒนา หาตัวยาใหม่ๆ เพื่อที่จะปราบมะเร็งให้ได้ผลดีอยู่เรื่อยๆ แต่คนกลับเป็นมะเร็งกันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว เรามีความรู้เพิ่มขึ้นมะเร็งควรจะลดลง นั่นเป็นเพราะมะเร็งเกิดได้จากหลายปัจจัย สิ่งที่เป็นตัวร้ายคือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเรานั่นเอง ต่อให้ยาดีแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจ ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้อยู่ดี
ควรลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นศัตรูตัวร้ายที่สามารถส่งผลให้เป็นมะเร็งได้หลายอย่าง งดการดื่มแอลกอฮอล์ อย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วน ลดการรับประทานเนื้อแดงซึ่งมีสารก่อมะเร็ง เช่น ไส้กรอก หมูแฮม
เพิ่มการออกกำลังกาย ทานผักผลไม้ให้มากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลจิตใจให้มีความสุข ไม่เครียด สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราห่างไกลจากมะเร็งได้
“ความภาคภูมิใจของคนเป็นหมอ คือ การได้ช่วยให้คนไข้ หายจากโรคมะเร็งกันได้มากๆ ยิ่งในปัจจุบันสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากเรารู้ได้เร็ว หมอจึงไม่อยากให้ทุกคนละเลยการตรวจสุขภาพ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราห่างไกลจากมะเร็ง ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่ว่าหญิงหรือชาย ควรส่องกล้องเพื่อตรวจมะเร็งลำไส้ ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก จะช่วยให้ตรวจเจอในระยะแรก รักษาได้หายขาด และสิ่งสำคัญควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังที่กล่าวมา เพราะถึงแม้จะมียาในการรักษามะเร็งที่ดีแค่ไหน แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราไม่เป็นมะเร็ง”
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่