“ลำไส้” อวัยวะที่อาจถูกมองข้าม ด้วยเห็นความสำคัญของสมอง หัวใจ ตับ และปอดมากกว่า แต่ในความจริงแล้ว ลำไส้มีความสำคัญไม่น้อยกว่าอวัยวะอื่นๆ ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยสร้างพลังงาน และขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย หากระบบทางเดินอาหารมีปัญหาหรือขาดสมดุล ร่างกายจะไม่สามารถทำงานได้ปกติ ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้า ขาดสมาธิ สุดท้ายอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็งได้
ระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract-GI tract) เรียกอีกอย่างว่า ระบบย่อยอาหาร (digestive tract) เริ่มตั้งแต่ช่องปาก ลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และตับอ่อน
ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามินและน้ำ หลังรับประทานอาหาร ระบบย่อยอาหารจะย่อยสารอาหารเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ พอที่ร่างกายจะดูดซึมได้
หลังจากนั้นร่างกายจะนำสารอาหารไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ รวมถึงขับถ่ายของเสีย
ลำไส้เป็นส่วนที่ยาวที่สุด แบ่งเป็น ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่
การทำงานของลำไส้ที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะท้องเสียหรือท้องผูก รู้สึกว่าถ่ายไม่สุด อุจจาระมีเลือดปน และเริ่มมีน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคที่ร้ายแรง
อย่างไรก็ตามปัญหาสุขภาพลำไส้ ยังสามารถป้องกันได้ โดยเริ่มจากการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นประจำ เมื่อมีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป
คือ การตรวจผนังลำไส้และหาติ่งเนื้อ ซึ่งอาจเป็นจุดกำเนิดของมะเร็งก่อนที่แสดงอาการ โดยสามารถตรวจพบมะเร็งลำไส้และทวารหนักได้ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งสามารถทำการรักษาได้และประสบความสำเร็จสูง
จากการศึกษาพบว่า การเข้ารับการตรวจคัดกรอง โดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
นอกจากนี้หากเป็นผู้มีความเสี่ยง เนื่องจากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรเข้ารับตรวจคัดกรองก่อนอายุ 45 ปี โดยคำนวณจากการนำอายุของบุคคลใกล้ชิดที่เป็นมะเร็งลบด้วย 10 จะได้อายุที่ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เช่น หากพบมะเร็งในพ่อหรือแม่เมื่ออายุ 40 ปี ลบออกด้วย 10 จะเหลือ 30 ดังนั้น ลูกควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่อมีอายุ 30 ปี โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ
ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคนิคที่ทันสมัยผ่านทางกล้อง เช่น NBI (Narrow Band Image), EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ Endobrain (เป็น program AI) ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงของติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ และเมื่อตรวจพบติ่งเนื้อ สามารถทำการตัดก้อนเนื้อผ่านกล้องด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย ร่วมกับเทคนิคการทำ EMR (Endoscopic mucosal resection) และ ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Minimal invasive surgery ในการตัดก้อนเนื้อที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งสูง ออกจากลำไส้ใหญ่ผ่านกล้อง โดยไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด และลดระยะเวลาการอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล สิ่งสำคัญ คือ สามารถฟื้นตัวได้เร็ว กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้รวดเร็ว
หากมีการตรวจพบติ่งเนื้อขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ควรเข้ารับการตรวจซ้ำทุก 3-5 ปี กรณีพบติ่งใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร อาจจำเป็นต้องตรวจทุก 1-3 ปี แต่ถ้าตรวจไม่พบติ่งเนื้ออาจเว้นระยะการตรวจนานขึ้นถึง 5-10 ปี โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ดังนั้นการรับประทานอาหาร พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต และกรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่โรคต่างๆ เกี่ยวข้องกับลำไส้ หากมีอาการผิดปกติ ควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ตามเวลาจะช่วยป้องกันโรคร้ายแรงได้เช่นกัน
ฃ
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่