การเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือการส่องกล้อง จำเป็นต้องพบแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ข้อมูลประวัติส่วนตัว เช่น โรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา รวมถึงยาที่รับประทานเป็นประจำ อีกทั้งแพทย์จะให้ข้อมูลการเตรียมตัวส่องกล้อง รวมถึงตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ เมื่อผู้เข้าตรวจตกลงจะเข้ารับการส่องกล้องแล้ว พยาบาลจะทำนัดเพื่อส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่อีกครั้ง โดยมีการเตรียมตัว ดังนี้
- งดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการส่องกล้องอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์ทำการซักประวัติส่วนตัว เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา รวมถึงยาที่รับประทานเป็นประจำ
- รับประทานยาระบาย เพื่อขับถ่ายให้สำไส้สะอาด โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
- แพทย์ให้ยานอนหลับ กรณีเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว อาจใช้วิธีการดมยานอนหลับ ชนิดไม่รุนแรงและหมดฤทธิ์ได้เร็ว
- แพทย์ใช้เวลาส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ประมาณ 20 – 30 นาที
- กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติอาจใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งกระบวนการใช้เวลาประมาณครึ่งวัน
การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงความเครียด เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
นอกจากนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นตัวช่วยให้ตรวจพบแนวโน้มความเสี่ยงการเกิดโรคในระยะเริ่มต้น ซึ่งทำให้การป้องกันและรักษาง่ายขึ้น ก่อนโรคลุกลามจนหมดทางรักษา
ทั้งนี้ นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีพื้นฐานทั่วไปแล้ว เมื่ออายุมากขึ้นควรเพิ่มการตรวจคัดกรองที่เหมาะสมตามวัย โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 45 ปี ซึ่งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้การตรวจทำได้ง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราจึงควรเข้ารับการตรวจแต่เนิ่นๆ เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยิ่งตรวจพบเร็วยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น