หยุดปัญหากวนใจ ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงวัย

หยุดปัญหากวนใจ ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงวัย

HIGHLIGHTS:

  • ปัสสาวะเล็ดไม่ใช่เรื่องปกติ ส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูงวัย จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้น เช่น การพลัดตกหกล้ม โรคซึมเศร้า จากการวิตกกังวล
  • เมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เยื่อบุช่องคลอดฝ่อตัว และแห้งจนเป็นปัจจัยเสี่ยง ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้
  • 60-80% จะมีอาการดีขึ้น ภายใน 3 เดือน หากมีการฝึกขมิบกล้ามเนื้อเชิงกรานอย่างถูกต้องในระยะเวลาที่พอเหมาะ

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่รวมถึงผู้ดูแลมักมองว่าปัญหาปัสสาวะเล็ดในผู้สูงวัยเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากสภาวะร่างกายที่ถดถอย ระบบขับถ่ายขาดความยืดหยุ่นและเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ดีเหมือนสมัยหนุ่มสาว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาปัสสาวะเล็ดราดส่งผลต่อเนื่องถึงสุขภาพโดยทั่วไปของผู้สูงวัย อีกทั้งยังรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการพลัดตกหกล้ม เพราะต้องเข้าห้องน้ำบ่อย หากเป็นมากในเวลากลางคืน ยังทำให้ต้องอดนอน กลายเป็นปัญหากวนใจและวิตกกังวล

ทั้งนี้มีผลวิจัยพบว่าหญิงไทยวัยหมดประจำเดือนมีปัญหาปัสสาวะเล็ด เนื่องจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนสมรรถภาพไม่สามารถเดินทางไกลได้ ประกอบกับความอับอาย ไม่กล้าเปิดเผยอาการให้แพทย์ทราบ คิดว่าโรคนี้รักษาไม่ได้ กลายเป็นคนเก็บตัว โดดเดี่ยวและซึมเศร้าในที่สุด

ทำไมกลั้นปัสสาวะไม่ได้

  • ปวดปัสสาวะรุนแรง จนเกิดการปัสสาวะราด พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งปวดปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืน หากเป็นมากอาจถึงกับปัสสาวะรดที่นอน
  • ปัสสาวะเล็ด เมื่อมีแรงกดในช่องท้อง เช่น ขณะยกของหนัก ไอ หรือจาม ซึ่งส่งผลต่อกระเพาะปัสสาวะ จนมีปัสสาวะปริมาณเล็กน้อยเล็ดออกมาทั้งๆ ที่ไม่ได้ปวดปัสสาวะ มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือเคยคลอดบุตร
  • ปัสสาวะเล็ดโดยไม่รู้ตัว มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือต่อมลูกหมากโตเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะจำนวนมากจนล้นไหลออกมาเอง
  • ปัสสาวะเล็ดตามออกมาเล็กน้อย หลังจากปัสสาวะเสร็จแล้ว ทำให้เปียกชื้นหรือส่งกลิ่น พบมากในผู้หญิงที่มีปัญหาถุงน้ำบริเวณท่อปัสสาวะ และในผู้ชายที่มีปัญหาต่อมลูกหมากโต

สาเหตุปัสสาวะเล็ดราด

  • กระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ส่งผลให้มีการบีบตัวไวและไม่เป็นเวลา ทำให้ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะเล็ดได้ อาจเกิดจากโรคทางระบบประสาท หรือจากการติดเชื้อกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงกลุ่มโรคกระเพาะปัสสาวะไวกว่าปกติ (overactive bladder) ซึ่งไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด
  • อวัยวะขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เนื่องจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรวมถึงกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่คอยพยุงท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน รวมถึงหูรูดท่อปัสสาวะมีการเสื่อมสภาพ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลากหลาย ทั้งการคลอดบุตร ความอ้วน มีเนื้องอกในช่องท้อง และภาวะไอเรื้อรัง ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บกักปัสสาวะไว้ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีแรงกดตรงช่องท้อง เช่น หัวเราะ ไอ หรือจาม
  • อายุเพิ่มขึ้น ระบบต่างๆ ในร่างกายมีความเปลี่ยนแปลง เมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เยื่อบุช่องคลอดฝ่อตัว และแห้งจนเป็นปัจจัยเสี่ยง ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้เช่นกัน
  • การรับประทานยาบางชนิด อาจทำให้ปัสสาวะเล็ดราด เช่น ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
  • ปัญหาทางสมองหรือร่างกาย ปัสสาวะเล็ด ซึ่งไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบขับถ่ายโดยตรง แต่เกิดจากปัญหาทางสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม หรือปัญหาด้านร่างกายทำให้ไปห้องน้ำได้ลำบาก
  • โรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการกลั้นปัสสาวะ เช่น เบาหวาน โรคสมองเสื่อม และต่อมลูกหมากโต
  • รับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม เครื่องดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นทำให้ท่อปัสสาวะเปิด จึงทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมาได้

การวินิจฉัย

  • แพทย์ทำการซักประวัติ เพื่อดูความผิดปกติของการปัสสาวะ ประวัติการใช้ยา และเป็นโรคประจำตัว
  • ตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุปัสสาวะเล็ดเบื้องต้น โดยการคลำหน้าท้องดูความผิดปกติ และมีการตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำต่อมลูกหมากเพิ่มเติมในเพศชาย ส่วนผู้หญิงมีการตรวจทางช่องคลอด
  • ตรวจระบบประสาทการควบคุมการปัสสาวะ ทดสอบแรงกดช่องท้องมีผลต่อปัสสาวะเล็ดหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจปัสสาวะ หาการอักเสบ ติดเชื้อต่างๆ

การรักษา

  • หากปัสสาวะเล็ด เมื่อมีแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น อาจให้ผู้ป่วยฝึกขมิบ เพื่อบริหารหูรูดให้กระชับและมีแรงกลั้นปัสสาวะ
  • กลุ่มอาการปัสสาวะเล็ด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท หรือมีปัญหากระเพาะปัสสาวะไวกว่าปกติ แพทย์จะรักษาเบื้องต้น ด้วยการปรับพฤติกรรม โดยปรับลดปริมาณการดื่มน้ำ รวมถึงควบคุมการปัสสาวะ ให้เป็นเวลา บางรายอาจมีการให้ยารับประทานเพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
  • กรณีที่ไม่สามารถใช้ยารับประทาน หรือใช้ไม่ได้ผล อาจรักษาด้วยการใส่ยาเข้ากระเพาะปัสสาวะ ช่วยยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
  • การผ่าตัด เพื่อเสริมแรงต้านบริเวณท่อปัสสาวะ ช่วยให้การทำงานของท่อปัสสาวะดีขึ้น เป็นการรักษาที่ไม่ยุ่งยาก เห็นผลเร็ว และมีประสิทธิภาพสูง การผ่าตัดทำโดยผ่านทางหน้าท้อง หรือผ่านช่องคลอด แพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ข้อควรปฏิบัติเพื่อลดปัญหาปัสสาวะเล็ด

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มกระตุ้น การปัสสาวะ เช่น แอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ
  • หลีกเลี่ยงยาบางชนิด โดยปรึกษาแพทย์ว่ายาตัวใดมีผลต่อปัญหาปัสสาวะเล็ด
  • ดูแลและควบคุมโรคประจำตัว รวมถึงรักษาอาการไอจามเรื้อรัง รักษาอาการท้องผูก
  • ออกกำลังกายที่เหมาะสมครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
  • พยายามไม่อ้วน ด้วยการควบคุมน้ำหนักตัวให้พอดี
  • ฝึกขมิบช่องคลอด ซึ่งเป็นการบริหารกล้ามเนื้อเชิงกรานให้แข็งแรงขึ้น ผู้ป่วย 60-80% จะมีอาการดีขึ้น ภายใน 3 เดือน หากมีการบริหารอย่างถูกต้องในระยะเวลาที่พอเหมาะ ทั้งนี้วิธีการบริหารมีหลายวิธี เช่น การฝึกขมิบค้างไว้ โดยทำวันละ 3 ชุด ชุดละ 20 ครั้ง แต่ละครั้งนาน 6-8 วินาที นอกจากนี้ยังมีการฝึกขมิบแบบเร็วๆ ประมาณ 10-20 ครั้งต่อชุด การขมิบถี่ๆ วิธีนี้จะช่วยให้กระเพาะปัสสาวะที่บีบตัวกะทันหันคลายตัวได้ การฝึกขมิบช่องคลอดสามารถฝึกปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดี แต่ถ้าหยุดทำ ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นอีก
  • การปรับพฤติกรรม โดยงดเครื่องดื่มคาเฟอีน (ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม) เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ รวมถึงไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไป ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวันคือ 1-1.5 ลิตร โดยค่อยๆ แบ่งดื่มไปตลอดวัน

ปัญหาปัสสาวะเล็ด รวมถึงการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องปกติตามวัยที่ควรมองข้าม หากผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างดีแล้ว แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาปัสสาวะเล็ดราดได้ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุ และทำการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติและมีความสุขต่อไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?