ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คือ ภาวะที่อวัยวะเพศชาย ไม่สามารถคงตัวไว้ได้ในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ จะพบได้มากในผู้สูงอายุและสามารถพบได้ใน

ผู้ชายทุกวัย จากการศึกษาผู้ชายทั่วโลก พบว่ามีอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นตามอายุ ดังนี้

  • >  40 ปี จะพบได้ 1 – 9 %
  • 40 – 49 ปี จะพบได้ 2 – 30 %
  • 60 – 69 ปี  จะพบได้ 20 – 40 %
  • 70 – 89 ปี จะพบได้ 50 – 75 %

สาเหตุของการเกิดโรคภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

สามารถแบ่งกว้างๆ ได้ 2 ประเภท คือ ทางด้านจิตใจและทางด้านร่างกาย

1. ทางด้านจิตใจ เชื่อว่าเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของภาวะโรคหย่อนสมรรถภาพในผู้ชายที่ อายุน้อย โดยผู้ที่มีอาการมักจะเกิดความกังวล และมักมีปัญหาเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เกิดเป็นปมในใจทำให้ขาดความมั่นใจ จนสุดท้ายมีปัญหาหย่อนสมรรถภาพเกิดขึ้น เราเรียกกันว่า Psychogenic ED

2. ทางด้านร่างกาย สาเหตุนี้พบมากในกลุ่มอายุที่สูงขึ้น เรียกได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้นก็มีความเสื่อมของร่างกาย รวมถึงโรคต่างๆ มากขึ้น มีสาเหตุหลายอย่าง เช่น

  • ระดับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลง : อายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจมีอาการมีความแข็งตัวที่ลดลง ไม่ค่อยสนใจในเรื่องเพศสัมพันธ์ หรือบางคนเป็นมากจนเกิดอาการหงุดหงิดง่าย จนมีคนตั้งกลุ่มนี้ว่าเป็นโรคชายวัยทอง(Andropause)(คล้ายกับโรคสตรีวัยทอง Menopause สตรีที่หมดประจำเดือนโดยที่สตรีจะมีฮอร์โมนเพศลดลง) ชายกลุ่มนี้ จะตรวจพบฮอร์โมนเพศลดลงจากระดับปกติ
  • ความผิดปกติของหลอดเลือด : อวัยวะจะทำงานได้ดีต่อเมื่อมีเส้นเลือดไปเลี้ยงที่ดี การแข็งตัวของอวัยวะเพศเกิดจากการที่มีหลอดเลือดไปรวมคั่งอยู่ในอวัยวะเพศ ซึ่งทำให้เกิดการแข็งตัว ถ้าเส้นเลือดมีปัญหา เลือดก็จะไหลเวียนไปได้น้อยทำให้แข็งตัวได้ไม่ดี การที่เส้นเลือดเสื่อมมักเกิดจาก โรคที่ทำลายเส้นเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง ภาวะเหล่านี้จะทำให้เส้นเลือด เสียความยืดหยุ่นและแข็งตัวทำให้ขยายไม่ได้ เลือดจึงไปเลี้ยงที่อวัยวะส่วนปลายได้น้อย
  • ความผิดปกติของระบบประสาท: อวัยวะเพศจะแข็งตัวได้ต้องมีระบบประสาทรับสัมผัสและประสาทส่งการที่ดี เมื่อเส้นประสาทเสื่อม (เช่นเป็นโรคเบาหวานมานาน) หรือ เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ เช่น การผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน ผ่าตัดต่อมลูกหมาก ผ่าตัดลำไส้ใหญ่ หรือประสาทที่ไขสันหลังถูกกดทับ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณอวัยวะเพศ ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถแข็งตัวได้
  • การใช้ยาประจำ : ยาหลายชนิดมีผลกระทบกับสมรรถภาพทางเพศ ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการซึมเศร้า ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ อวัยวะเพศแข็งตัวลดลง ยาความดันบางชนิดมีผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ เช่น ยาในกลุ่ม Beta-blocker, Diuretic อาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพได้
  • ความอ่อนล้าของร่างกาย : ในบางครั้งเมื่อร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนักดื่มแอลอฮอล์มาก ก็มีส่วนทำให้สมรรถภาพทาง เพศลดลงได้เช่นกัน กลไกที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศ  “การที่จะเกิดการแข็งตัวขอวอ วัยวะเพศได้ต้องมีการกระตุ้นและสมองส่งสัญญาณไปที่อวัยวะเพศ อวัยวะเพศชายนั้น  มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ เมื่อมีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นฟองน้ำก็ขยายตัวและมีแรงดันที่เพื่มขึ้น จึงก่อให้เกิดการแข็งตัว ของอวัยวะเพศได้”

การรักษา ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพและรักษาตามสาเหตุ

  1. ถ้าต้นเหตุมาจากจิตใจ Psychogenic ED ต้องใช้การรักษาโดยการปรับปรุงพฤติกรรม บางครั้งอาจใช้ยาช่วยใน เบื้องต้นและช่วยเหลือโดยการปรับพฤติกรรมและสภาวะจิตใจ จนภาวะจิตใจกลับมาเป็นปกติจึงสามารถลดยาได้
  2. ถ้าภาวะหย่อนเกิดจากสาเหตุทางร่างกาย มีวิธีการรักษาตามระดับต่างๆ ในเบื้องต้นอาจเริ่มจากการใช้ยากิน เช่น ยาในกลุ่ม PDE5-inhibitor เช่น Viagra (sildenafil), Levitra (vardenafil) และ Cialis (tadalafil) ยากลุ่มนี้ไม่ใช่ยารักษาแต่ช่วยเสริมสมรรถภาพ ตามครั้ง  ที่รับประทาน คือต้องทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 30 – 60 นาที ก่อนทีเพศสัมพันธ์ ยา 3 ชนิดนี้ แตกต่างกันที่  ระยะเวลาของการออกฤทธิ์
  3. ขั้นถัดไปสามารถใช้ยาฉีด โดยฉีดเข้าไปตรงที่อวัยวะเพศก่อนการมีเพศสัมพันธ์ โดยผู้ใช้ต้องฉีดเอง   ยานี้อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงคือ เกิดการแข็งตัวที่ยาวนานเกินไป เกิดความเจ็บปวดจากการฉีด หรือเกิดเป็นแผลเป็นบนองคชาติ
  4. กระบอกสูญญากาศเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง คนส่วนมากนำมาใช้ในทางที่ผิด จริงๆ แล้วกระบอกสูญญากาศเป็น อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยให้แข็งตัวได้ดี วิธีนี้ใช้อุปกรณ์กระบอกสูญญากาศ ครอบลงบนองคชาติเพื่อช่วยให้เกิดการแข็งตัวจากแรงดูดอากาศ แล้วสวมแหวนรอบๆ โคนขององคชาติเพื่อรักษาการแข็งตัวไว้ อุปกรณ์สูญญากาศนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ไม่ควรใช้นานกว่า 30 นาทีต่อครั้ง เพราะจะทำให้เจ็บและเลือดไม่ไหลเวียน
  5. ถ้าสาเหตุเกิดจากระดับฮอร์โมนต่ำ ก็มีการให้ฮอร์โมนทดแทนได้ มีทั้งรูปแบบยารับประทาน,ยาฝัง ยาเจลสำหรับทา แผ่นแปะผิวหนังและยาฉีด ที่นิยมใช้คือยารับประทาน และยาฉีดซึ่งปัจจุบันมียาฉีดชนิดที่ฉีดทุกๆ 3 เดือน ซึ่งสะดวกและได้ผลดี
  6. ในรายที่มีอาการมาก ท้ายสุดอาจต้องใช้การผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศเทียม มีทั้งชนิดแกนแบบดัดงอได้ หรือแกนชนิดที่ขยายขนาดได้โดยใช้น้ำเกลือปั้มเข้าไปในแกน  แต่การผ่าตัดก็ทำให้เจ็บปวด และมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งในระหว่างหลังการผ่าตัด
  7. บางคนอาจมีอาการเนื่องจากร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ การแนะนำการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต ลดแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็เป็นทางช่วยอีกทางครับ

ผู้ชายส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองไม่มีปัญหาเรื่องหย่อนสมรรถภาพ จากการศึกษาพบว่า ผู้ชายไทยระหว่างอายุ 40-70 พบภาวะหย่อนสมรรถภาพ ได้ถึง 42 เปอร์เซ็นต์ คนส่วนมากมักมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว คิดว่าเป็นโรคเฉพาะคนสูงอายุ จนบางครั้งเริ่มมีอาการ ก็ตกใจ ส่วนมากก็จะปรึกษาเพื่อนฝูงที่สนิทก็จะแนะนำกัน  ถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่ถ้าเป็นคนขี้อายก็จะเก็บปัญหาไว้คนเดียว

ในความเป็นจริงควรทำความเข้าใจกับร่างกายของเราก่อน  ปัจจัยที่จะทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวนั้นมีหลายอย่าง ทั้งด้านร่างกาย เช่น ระบบหลอดเลือด ระบบประสาท ฮอร์โมน และทางด้านจิตใจ ทุกอย่างต้องครบจึงจะมีการแข็งตัวเกิดขึ้นได้ การที่ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็จะทำให้แข็งตัวได้ไม่ดี หรือไม่แข็งตัวเลยในบางครั้ง

ในเบื้องต้นถ้าคุณอายุไม่มาก สุขภาพแข็งแรงดี ED (Erectile dysfunction= ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ) อาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว เพราะร่างกายไม่พร้อม พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีความกังวลทางจิตใจ ถ้าดูแลสุขภาพดีแล้วยังมีอาการอยู่ คงต้องตรวจหาสาเหตุ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่อายุ 50 ปีขึ้นไปโดยส่วนมากจะมีปัจจัยทางร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง แต่ไม่เคยตรวจมาก่อนเพราะคิดว่าตัวเองไม่เป็น สูบบุหรี่มาก สิ่งเหล่านี้เป็นตัวการที่ทำให้เส้นเลือดเสื่อมสภาพ รวมทั้งภาวะพร่อง hormone จากอายุที่มากขึ้น

ในปัจจุบันมียาที่ใช้รักษาได้ดีอยู่หลายชนิด เช่นยาขยายหลอดเลือด (กลุ่ม PDE 5 inhibitor) หรือยาเพิ่มฮอร์โมนในร่างกาย (Testosterone) มีทั้งยาแผนปัจจุบัน และยาทางเลือกต่างๆ เช่นสมุนไพร หรือสารจากธรรมชาติ ควรเลือกหา ให้ถูกต้องเหมาะสม ควรศึกษาหาข้อมูลของยาแต่ละชนิดว่ามีความปลอดภัย เหมาะสมกับร่างกายของเราหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือยาทางเลือก ต่างมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ผู้ใช้ควรศึกษาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจ โดยส่วนมากยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงอยู่บ้าง แต่ต้องรู้ ข้อห้ามใช้ เช่นผู้ที่มีอาการของโรคหัวใจ หรือรับประทานยาขยายหลอดเลือดอยู่ ถ้ามีอาการเหล่านี้ห้ามใช้ยาโดยเด็ดขาด  ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ ถ้าไม่มั่นใจหรือปฎิบัติแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง จะให้คำแนะนำได้ ตรงจุด และจะตรวจหาความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ คุณอาจตรวจพบโรคที่ซ่อนอยู่ที่คุณอาจไม่รู้ เช่น เบาหวาน ไขมันในโลหิตสูง ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรค ED ได้

คำถาม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
Question*
Question*
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?