การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ และความรุนแรงของโรคเป็นอย่างไร โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่ต้องทำการรักษา แต่ในชนิดที่ต้องทำการรักษาก็จะมีทางเลือกในการรักษาหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การใช้ยา การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ การใช้สายสวนเพื่อจี้วงจรนำไฟฟ้าที่ผิดปกติ การฝังเครื่องกระตุ้นกระตุกหัวใจ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งวิธีหลังสุดนี่คือการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจเป็นการฝังเครื่องมือเล็กๆ ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า เพื่อตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ และสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจเพื่อควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่กำหนด ซึ่งวิธีนี้จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดเล็ก ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเรื่องแผลและความเจ็บปวด เพราะเจ็บน้อยและสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
สุดท้ายนี้เราก็ต้องขอขอบพระคุณในความกรุณาของ แพทย์หญิงอรพิน ชวาลย์กุล อีกครั้งที่ได้กรุณาสละเวลามาให้ความรู้กับเรา คุณหมอยังฝากสิ่งดีทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ดีที่สุดไม่ใช่การรักษาโรค แต่ควรเป็นการป้องกันการเกิดโรค แม้แต่โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทางที่ดีเราควรดูแลตนเองไม่ให้เสี่ยงต่อโรคจะดีกว่า หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อความมั่นใจว่าเราห่างไกลโรค ตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการรักษาโรคแน่นอน”