ติดตามปัญหาสุขภาพหัวใจและการนอนหลับกับ นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch)

ติดตามปัญหาสุขภาพหัวใจและการนอนหลับกับ นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch)

HIGHLIGHTS

  • นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) สามารถช่วยติดตามสุขภาพหัวใจ และ การนอนหลับ โดยการตรวจจับความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงปัญหาการนอนหลับได้
  • การรายงานผลของนาฬิกาอัจฉริยะจากการติดตามการนอนหลับและระดับออกซิเจนในเลือดช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
  • นาฬิกาอัจฉริยะสามารถช่วยจัดการความเครียดและฟื้นฟูร่างกายหลังการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะ Overtraining Syndrome และโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้

การใช้นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) เพื่อติดตามสุขภาพหัวใจและการนอนหลับได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบและจัดการปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการตรวจจับความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงปัญหาการนอนหลับได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถบริหารจัดการความเครียดและฟื้นฟูร่างกายหลังการออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่จะตามมาได้เป็นอย่างมาก

การติดตามสุขภาพหัวใจ ด้วยนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch)

นาฬิกาอัจฉริยะสามารถตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการตรวจสอบที่สำคัญสำหรับการติดตามภาวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) โดยใช้ระบบการติดตามอัตราการเต้นของหัวใจในระหว่างวันและขณะพักผ่อน ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการตรวจจับการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติได้ (คำนวณการเต้นของหัวใจที่เร็วเกินไป หรือช้ามากกว่าปกติ) ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงโรคหัวใจที่อาจเกิดขึ้นในระยะแรกได้ โดยนาฬิกาอัจฉริยะที่สามารถตรวจจับพฤติกรรมผิดปกตินี้ได้ ต้องมีการใช้เซนเซอร์ PPG (Photoplethysmogram) ที่มีความสามารถในการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจคล้ายกับเครื่องมือทางการแพทย์อย่าง EKG (Electrocardiogram)

นอกจากนี้ นาฬิกาอัจฉริยะยังสามารถติดตามระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการประเมินภาวะโรคหัวใจ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพหัวใจในระยะยาวได้อีกด้วย

การติดตามการนอนหลับ ด้วยนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch)

การนอนหลับที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) หรือ การนอนไม่หลับ (Insomnia) นาฬิกาอัจฉริยะที่มีระบบในการติดตามการนอนหลับ (Sleep Tracking) ที่สามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหวในขณะนอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับออกซิเจนในเลือด ระบบเหล่านี้จะช่วยประเมินคุณภาพการนอนหลับและบ่งชี้ถึงอาการผิดปกติที่มากับการนอนหลับได้ ยิ่งไปกว่านั้นนาฬิกาอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีการตรวจจับการเคลื่อนไหวและอัตราการเต้นของหัวใจสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลานอนหลับลึก (Deep Sleep) และการตื่นตอนกลางคืนเพื่อประเมินภาวะผิดปกติที่เกิดจากการนอนได้อย่างแม่นยำเพิ่มขึ้นด้วย

การใช้นาฬิกาอัจฉริยะเพื่อติดตามการนอนหลับสามารถช่วยในการตรวจจับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งส่งผลต่อระดับออกซิเจนในเลือดและเพิ่มความเสี่ยงต่อ โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมได้อีกด้วย มากกว่านั้นการใช้นาฬิกาวัดการนอนหลับ ยังสามารถช่วยติดตามคุณภาพการนอนหลับและแนะนำวิธีการปรับปรุงพฤติกรรมการนอนที่ดีได้ เช่น การหลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอในช่วงก่อนนอน หรือการปรับสภาพแวดล้อมการนอนให้เหมาะสม เป็นต้น

การตรวจจับและจัดการความเครียด

การติดตามความเครียดในชีวิตประจำวันมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากความเครียดที่เรื้อรัง โดยนาฬิกาอัจฉริยะที่มีการติดตั้งเทคโนโลยี Heart Rate Variability (HRV) จะสามารถช่วยในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจและสัญญาณความเครียดในร่างกายได้ โดยนาฬิกาอัจฉริยะจะช่วยให้ผู้ใช้รับรู้ถึงระดับความเครียดของตนเองและสามารถหาวิธีการเพื่อปรับตัวให้ลดระดับความเครียดลงได้ โดยแนะนำกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย เช่น การหายใจลึก หรือการทำสมาธิ เป็นต้น

ทั้งนี้ความเครียดเรื้อรังอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึมเศร้า (Depression) และ โรควิตกกังวล (Anxiety) ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งสุขภาพจิตและร่างกาย นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) และ โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ได้ด้วยเช่นกัน

การฟื้นตัวหลังการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายมีผลดีต่อสุขภาพหัวใจและระบบร่างกายโดยรวมเป็นอย่างมาก แต่การออกกำลังกายที่หนักเกินไปโดยไม่มีการฟื้นตัวที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะ Overtraining Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถฟื้นตัวได้จากการออกกำลังกายหนัก ซึ่งเทคโนโลยีของนาฬิกาอัจฉริยะสามารถช่วยในการติดตามกระบวนการฟื้นตัวของร่างกายได้โดยการวัดอัตราการเต้นของหัวใจหลังการออกกำลังกายเป็นตัวชี้วัด ซึ่งการทราบข้อมูลดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับปรุงแผนการออกกำลังกายให้เหมาะสม ทำให้ผู้ใช้อยู่ในโซนของการออกกำลังกายที่ช่วยหลีกเลี่ยงการใช้ร่างกายหนักหรือเกิดการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายดังกล่าวได้

นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) กับค่า VO2 Max

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ติดตั้งมาในนาฬิกาอัจฉริยะที่ช่วยเรื่องการออกกำลังกายคือ VO2 max (Maximal Oxygen Consumption) โดยค่า VO2 max ยิ่งสูงเท่าไหร่หมายความว่าร่างกายสามารถรับออกซิเจนจากอากาศและส่งไปยังกล้ามเนื้อได้ดีมากขึ้น ยิ่งกล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนมากเท่าไหร่ ร่างกายก็จะสามารถเปลี่ยนธาตุอาหารให้กลายเป็นเชื้อเพลิงโมเลกุล (ATP) ที่กล้ามเนื้อต้องใช้ในการหดตัวและทำงานได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น การดูค่าดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่ออกกำลังหรือนักกีฬาที่ใช้ร่างกายหนักเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและดีที่สุดต่อสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล

ดังนั้นการใช้นาฬิกาอัจฉริยะในการติดตามข้อมูลด้านสุขภาพสามารถช่วยตรวจจับความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจ ปัญหาการนอนหลับ ความเครียดเรื้อรังหรือปัญหาที่เกิดจากการออกกำลังอย่างหักโหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในระยะยาว นาฬิกาอัจฉริยะจึงไม่เพียงแค่ช่วยให้ผู้ใช้ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพที่สำคัญได้ แต่ยังสามารถช่วยปรับปรุงพฤติกรรมการดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้ด้วยเช่นกัน
 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?