หัวใจวายเฉียบพลัน

หัวใจวายเฉียบพลัน

Hilights:

  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน จะมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือเวลานอนราบ แน่นหน้าอก ไอ อาจมีอาการไอปนฟองสีขาวหรือชมพู ตัวบวม ขาและข้อเท้าบวม น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ออกแรงได้น้อยลง บางรายอาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น หายใจมีเสียงวี๊ด หรือหมดสติ
  •  ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ได้แก่  อายุ 65 ปีขึ้นไป มีประวัติภาวะหัวใจวายในครอบครัว รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สูบบุหรี่ ใช้ยาหรือสารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย  มีโรคประจำตัวด้านหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดชนิดรุนแรง การติดเชื้อ 
  • ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจหรือมีความเสี่ยงอื่น ๆ อาจพิจารณาตรวจยีนหัวใจเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจเพื่อป้องกันภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้

หัวใจวายเฉียบพลัน คืออะไร

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute heart failure) คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้ตามความต้องการของร่างกาย ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่พอเพียง และเลือดที่ไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ มีการคั่งกลับไปที่ปอด ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายและอาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันอาจเกิดในผู้ที่มีความผิดปกติของหัวใจอยู่เดิม เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หรือเกิดในผู้ที่ไม่เคยมีโรคหัวใจแต่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ส่งผลต่อหัวใจ เช่น เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น

อาการของภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

ผู้ที่มีภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจะมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือเวลานอนราบ แน่นหน้าอก ไอ อาจมีอาการไอปนฟองสีขาวหรือชมพู ตัวบวม ขาและข้อเท้าบวม น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว เหนื่อยเพลีย อ่อนแรง ออกแรงได้น้อยลง บางรายอาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น หายใจมีเสียงวี๊ด หรือหมดสติ

อาการของภาวะหัวใจวายเฉียบพลันที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

เป็นอาการที่แสดงออกถึงภาวะหัวใจวายเฉียบพลันที่มีความรุนแรง หรืออาจเป็นอาการแสดงของโรคอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงถึงชีวิตได้เช่นเดียวกัน อาการดังกล่าว เช่น

  • เจ็บหน้าอก
  • เป็นลม หมดสติ หรือมีอาการเหนื่อยเพลียมาก
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ร่วมกับมีอาการหายใจหอบ เจ็บหน้าอก หรือหมดสติ
  • มีอาการหายใจไม่อิ่มที่เป็นขึ้นมาทันที หรือเป็นอย่างรุนแรง มีอาการไอมีเสมหะปนฟองสีชมพู
  • หากมีอาการต่าง ๆ ดังกล่าว ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการตรวจและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

โรคและยาที่อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

มีโรคทางกายหลายโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ เช่น โรคไตเสื่อมหรือไตวายเรื้อรัง ลิ่มเลือดอุดตันในปอด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หลอดเลือดสมอง การติดเชื้อไวรัสที่มีผลต่อหัวใจ หรือความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจเดิม เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เป็นต้น โดยก่อนจะมีอาการของภาวะหัวใจวายเฉียบพลันอาจมีอาการนำของโรคที่เป็นสาเหตุมาก่อนได้

ยาหรือสารที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เช่น ยาและสารเสพติดต่าง ๆ โดยเฉพาะโคเคน ยาบ้า ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยารักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ยาฆ่าเชื้อ ยาเคมีบำบัด ยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้ตามที่แพทย์สั่งไม่ควรเป็นกังวล เนื่องจากหากมีการติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แพทย์จะปรับชนิดและขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ การหยุดยาหรือลดยาด้วยตนเองจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้โรคมีอาการรุนแรงขึ้นและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคได้ หากไม่แน่ใจหรือมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่จ่ายยาทุกครั้ง

ใครที่เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย

ผู้ที่มีปัจจัยดังต่อไปนี้เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

  • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีประวัติภาวะหัวใจวายในครอบครัว
  • ผู้ที่มีประวัติรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่ไขมันสูง สูบบุหรี่ ใช้ยาหรือสารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวด้านหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดชนิดรุนแรง การติดเชื้อ เช่น เชื้อเอชไอวีหรือโควิด-19 หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

วิธีการรักษาภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

  • การรักษาทางการแพทย์ เช่น การให้ยาเพื่อขับน้ำและโซเดียมออกจากร่างกาย การให้ยาเพื่อทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น การให้ยาเพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจและเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ การใส่เครื่องมือพิเศษ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ โดยขึ้นกับสาเหตุและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย
  • การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังต่อไปนี้
    • ลดการรับประทานอาหารเค็ม  อาหารที่มีไขมันสูง 
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • เลิกสูบบุหรี่
    • เลิกหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ควบคุมสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นความเสี่ยง เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ หรือค่าความเข้มข้นของเลือดในผู้ที่มีโรคประจำตัว
    • การลดความเครียด
    • การส่งเสริมการนอนที่มีคุณภาพ

ผลการรักษาและการพยากรณ์โรค

ผลการรักษาภาวะหัวใจวายเฉียบพลันขึ้นอยู่กับ

  • สาเหตุและความรุนแรงของภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
  • ระยะเวลาตั้งแต่มีอาการจนกระทั่งไปพบแพทย์
  • สภาวะสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยและการตอบสนองต่อการรักษา
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลังการรักษา

โดยทั่วไปหากผู้ป่วยไปพบแพทย์ตั้งแต่ระยะแรกของการมีอาการ และสามารถปฏิบัติตัว ปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำของแพทย์ มักทำให้มีผลการรักษาที่ดีกว่า ผู้ป่วยที่พบแพทย์เมื่อมีอาการมากแล้ว อาจมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้

วิธีการป้องกันภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

  • ปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาแล้ว
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
  • ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจหรือมีความเสี่ยงอื่น ๆ อาจพิจารณาตรวจยีนโรคหัวใจเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจเพื่อป้องกันภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันเป็นภาวะที่อันตราย การป้องกัน สังเกตตนเอง และพบแพทย์เมื่อมีอาการจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?