มีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการแข่งขันมาราธอน และฮาล์ฟมาราธอนทั่วอเมริกาเป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2000-2010 พบว่ามีนักวิ่งที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น 59 คน จากทั้งหมด 11 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วน 1/184,000 แต่เมื่อลองเปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในเมืองไทยที่อยู่ที่ประมาณ 1/10,000 ซึ่งสูงกว่าเกือบ 20 เท่าเลยนะครับ ผมว่าเหตุผลที่เราพบเห็นข่าวนักวิ่งเสียชีวิตระหว่างแข่งขันบ่อยขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจุบันมีนักวิ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากครับ
ย้อนกลับมาที่งานวิจัยที่ทำการเก็บข้อมูลจากนักวิ่งที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นทั้งหมด 59 คน ซึ่งได้ผลสรุปดังนี้
- 40 คนเกิดอาการขณะวิ่งมาราธอน และอีก 19 คนเกิดอาการขณะวิ่งฮาล์ฟมาราธอน
- อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 42 ปี
- ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย (86%)
- มักจะเกิดอาการในช่วง ¼ ของระยะทางก่อนเข้าเส้นชัย
- มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 71% หรือ 42 คนจากทั้งหมด
- สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือ ภาวะผนังหัวใจหนาผิดปกติ ส่วนผู้ที่รอดชีวิตนั้นพบว่า สาเหตุหลักเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจะดูสูง (71%) แต่ก็ยังน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นทั่วๆ ไป (ในชีวิตประจำวัน) ซึ่งอยู่ที่ 90% ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าระบบการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของการแข่งขัน ในอเมริกานั้นมีการเตรียมการ และมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่าในบ้านเรา ถึงแม้การเตรียมความพร้อมจะยังไม่เทียบเท่าอเมริกา แต่ถ้าเพื่อนๆ พี่ๆ นักวิ่งช่วยกันแนะนำให้ผู้จัดการแข่งขัน เห็นถึงความสำคัญ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตอย่างมากครับ เนื่องจากการ วิ่งหัวใจวาย เป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เจ้าหน้าที่จึงควรเตรียมความพร้อมไว้เสมอ