น้ำวุ้นตาเป็นส่วนที่บรรจุอยู่ภายในลูกตาด้านหลัง ลักษณะเป็นวุ้นใสให้สารอาหารแก่จอประสาทตาและเซลล์ผนังลูกตาชั้นใน มีหน้าที่ช่วยให้ลูกตาคงรูป และทำให้แสงผ่านไปตกที่จอประสาทตาได้ชัดเจน โดยโครงสร้างภายในจะประกอบด้วยน้ำ 99% กับโมเลกุลต่างๆ และเส้นใยอีก 1%
เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน น้ำวุ้นลูกตาจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากวุ้นกลายเป็นลักษณะที่เหลวเหมือนน้ำมากขึ้น และมีการหดตัว เส้นใยที่เป็นโครงสร้างของน้ำวุ้นจะรวมตัวกัน และหนาเป็นจุดหรือเส้นภายในลูกตา การหดตัวของน้ำวุ้นตานี้จะทำให้น้ำวุ้นตาแยกออกจากจอประสาทตาด้านหลัง ทำให้มีจุดหรือเงาดำลอยไปมา
โดยทั่วไป ภาวะนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงปกติที่พบได้ในผู้สูงอายุ คนที่มีสายตาสั้น คนที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจก ฉายแสงเลเซอร์ หรือมีการอักเสบภายในลูกตา
อาการที่พบคือ การมองเห็นในลานสายตา จุดเหล่านี้จะเคลื่อนไปมาตามการกลอกตาของเรา และเห็นได้ชัดตอนอยู่ในที่สว่าง หรือมองไปยังผนังที่สว่างๆ หรือฉากขาว เช่น การอ่านตัวหนังสือบนกระดาษ เป็นต้น บางครั้งอาจมีอาการเหมือนเห็นไฟแปล๊บหรือไฟแฟลชร่วมด้วย เกิดจากน้ำวุ้นตาไปดึงรั้งจอประสาทตา อาการแบบนี้ทางการแพทย์ถือว่า ไม่ใช่โรค ไม่อันตราย และไม่มียารักษา การเห็นเส้นหยากไย่ หรือจุดลอยไปมาเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นอันตรายกับลูกตา เพียงแต่ก่อให้ เกิดความรำคาญในการมอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกที่มีเงาดำลอยไปมาจะค่อยๆลดลงไปเอง และก่อให้เกิดความรำคาญน้อยลง เพราะเกิดความเคยชิน และปรับตัวได้เอง
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่