เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาจนอาการคงที่แล้ว บางกรณีอาจยังคงหลงเหลือความผิดปกติทางระบบประสาทอยู่บ้าง เช่น ปัญหาการเคลื่อนไหว การช่วยเหลือตนเอง การรับประทานอาหาร รวมถึงการสื่อสาร จึงจำป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งตัวผู้ป่วยเอง ผู้ดูแล รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมภายในที่พัก หรือที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ดังนี้
- คำแนะนำโรค (Disease education) ก่อนกลับบ้าน
แพทย์จะให้ข้อมูลและแนะนำเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อทำความเข้าใจถึงระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะมีโอกาสดีขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำ เช่น ควรรับประทานยา และทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ และทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ดังนั้นตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแลจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองและผลกระทบของโรคที่ยังคงปรากฏอยู่ - การดูแลภาวะทั่วไปเกี่ยวกับ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
อาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มหรือมีเกลือเป็นส่วนประกอบมาก เนื่องจากอาหารรสเค็มเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง ในขณะที่การรับประทานแป้งและน้ำตาลมากเกินไปอาจส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงอาหารไขมันสูงเป็นสาเหตุของโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งโรคเหล่านี้เพิ่มปัจจัยเสี่ยงการกลับมาเป็นซ้ำ กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารเอง แพทย์จะแนะนำวิธีให้อาหารทางสาย พร้อมสูตรอาหารปั่น และปริมาณน้ำที่ควรได้รับในแต่ละวัน ระดับความช่วยเหลือตนเอง ดูแลความสามารถในการเคลื่อนไหว เช่น นอนติดเตียง นั่งเองได้ ต้องใช้ไม้เท้า หรือวีลแชร์ ซึ่งผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือหรือผู้ดูแลต่างกันออกไป รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมในบ้าน ปรับพื้นต่างระดับ การจัดเก็บของให้ไม่ขวางทางเดิน
กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาการพูด ผู้ดูแลจึงควรใจเย็น พยายามทำความเข้าใจการสื่อสารของผู้ป่วย รวมถึงดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งอาจมีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ หรืออารมณ์ซึมเศร้าร่วมด้วย - การสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย
หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ควรมาพบแพทย์ก่อนนัด ได้แก่ อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาการอ่อนแรง พูดไม่ชัดที่มากขึ้น ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ผู้ป่วยหายใจเร็ว เสมหะเปลี่ยนสี - การเตรียมตัวพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการ
ผู้ป่วยควรเตรียมตัวก่อนมาพบแพทย์ เช่น งดน้ำงดอาหาร นับจำนวนยาที่เหลืออยู่ และแจ้งปัญหาที่พบเมื่อไปอยู่ที่บ้าน - การเตรียมอุปกรณ์พิเศษ
ควรเรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ได้อย่างถูกวิธี เช่น เครื่องมือวัดระดับความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อจดบันทึกและรายงานต่อแพทย์ในนัดครั้งต่อไป - การเตรียมความพร้อมของผู้ดูแล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ผู้ดูแลจำเป็นต้องมีการฝึกทักษะพิเศษในการดูแลผู้ป่วย กรณีมีความกังวลอาจพิจารณาใช้บริการ Stroke Telecare เป็นบริการดูแลผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต หลังออกจากโรงพยาบาลโดยทีมแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด ผ่านวิดีโอคอล 24 ชั่วโมง
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด คือพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงหมั่นสังเกตอาการเตือน เช่น ชาหรืออ่อนแรงบริเวณใบหน้า แขน ขา ครึ่งซีกของร่างกาย ปากเบี้ยว เดินเซ ทรงตัวลำบาก หากพบความผิดปกติเหล่านี้ซึ่งอาจเป็นครั้งเดียวแล้วหายไปเองก็ตาม ควรรีบพบแพทย์ทันที
สำหรับ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่ได้รับการรักษาแล้ว ควรป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ เนื่องจากอาจมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ดังนั้นการปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หลังจากออกโรงพยาบาลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง