เนื่องจากความเสี่ยงของหลอดเลือดโป่งพองขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือดที่โป่งพอง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่กว่า 7 มิลลิเมตรขึ้นไป จะเพิ่มโอกาสของการปริแตกมากขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับขนาดที่เล็กกว่า 7 มิลลิเมตร รวมถึงตำแหน่งของหลอดเลือดโป่งพองซึ่งจะมีผลต่อแรงกระแทกต่อหลอดเลือดนั้น เช่น หลอดเลือด Posterior communicating artery aneurysm จะมีความเสี่ยงในการแตกมากที่สุดเมื่อเทียบกับหลอดเลือดโป่งพองที่มีขนาดเท่ากันในตำแหน่งอื่น เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีแรงกระแทก การไหลวนของเลือด (turbulent flow) มาก
หากหลอดเลือดโป่งพองมีขนาดไม่ใหญ่ มักจะใช้การติดตามเป็นระยะๆ เพื่อดูอัตราการโตของหลอดเลือดโป่งพองนั้น หากมีความเสี่ยงที่จะแตกมากขึ้น จำเป็นจะต้องทำการอุดปิดหลอดเลือดที่โป่งพองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดปริแตก หรือเมื่อมีการปริแตกของหลอดเลือดโป่งพองนั้นแล้ว จำเป็นต้องทำการอุดปิดรอยรั่วของหลอดเลือดโป่งพองนั้นไม่ให้เกิดเลือดออกซ้ำอีก สามารถทำได้โดยการรักษาทางหลอดเลือด และการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อหนีบเส้นเลือด
การรักษาทางหลอดเลือด (Endovascular therapy)
วิธีนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะแต่จะสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปทางหลอดเลือดแดง มักเป็นบริเวณขาหนีบหรือข้อมือและนำท่อไปถึงบริเวณหลอดเลือดที่โป่งพองในสมอง โดยจะมีอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดเพื่อหยุดเลือดออกและลดความเสี่ยงในการแตกของหลอดเลือดที่โป่งพอง หรือเป็นการใส่ท่อตาข่ายเข้าไปเพื่อให้เลือดมีการไหลเวียนผ่านท่อตาข่ายนี้แทนที่จะผ่านหลอดเลือดที่โป่งพอง โดยแพทย์จะแนะนำวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายก่อนการผ่าตัด
วิธีนี้มีระยะเวลาในการฟื้นตัวสำหรับผู้ที่มีการแตกของหลอดเลือดอยู่ที่หลายสัปดาห์จนถึงเป็นเดือนเช่นเดียวกัน แต่ในผู้ที่ยังไม่มีการแตกของหลอดเลือดที่โป่งพองผู้ป่วยอาจฟื้นตัวได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่อาจมีความเสี่ยงในการกลับมาเลือดออกซ้ำได้มากกว่าวิธีการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อหนีบเส้นเลือด
การผ่าตัดแบบเปิดเพื่อหนีบเส้นเลือด (Open surgical (microvascular) clipping)
แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะและใช้การหนีบเส้นเลือดเพื่อหยุดการไหลของเลือดเข้าไปในบริเวณที่มีเส้นเลือดโป่งพอง ระยะเวลาในการฟื้นตัวสำหรับผู้ที่มีการแตกของหลอดเลือดอยู่ที่หลายสัปดาห์จนถึงเป็นเดือน และการฟื้นตัวในผู้ที่ยังไม่มีการแตกของหลอดเลือดอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์ วิธีนี้เป็นวิธีที่มีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำต่ำ
นอกจากการรักษาหลอดเลือดที่โป่งพองโดยตรงแล้ว ต้องทำการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดโป่งพองขยายขนาดขึ้นหรือแตก ได้แก่
- การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หยุดสูบบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น