ทำไมต้องตรวจหลอดเลือดสมอง

ทำไมต้องตรวจหลอดเลือดสมอง

HIGHLIGHTS:

  • ความดันโลหิตสูง คือปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงสุดของการเกิด โรคหลอดเลือดสมอง โดยคนที่มีความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนที่ไม่มีความดันสูงถึง 8 เท่า
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน หากไม่รีบมารพ.เพื่อรักษาอาจส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงชีวิต
  • ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองสามารถชี้ตำแหน่งหลอดเลือดสมองผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงหาความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ก่อนเกิดอาการ

การทำงานของสมองจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนและสารอาหารจากเลือด เมื่อใดก็ตามที่เส้นเลือดสมองถูกปิดกั้น ตีบ อุดตัน หรือเส้นเลือดแตก ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือดจนเซลล์สมองได้รับความเสียหาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน เนื่องจากยิ่งรักษาเร็ว จะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ แต่หากช้าเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงชีวิต

สาเหตุของ โรคหลอดเลือดสมอง

สมองขาดเลือดอาจเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke) และหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) โดยพบหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้บ่อยกว่า ประมาณ 70% ในขณะที่หลอดเลือดสมองแตกมีเพียง 30% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด

สาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบเกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง มีไขมันเกาะหลอดเลือดจำนวนมากจนหลอดเลือดตีบแคบ ส่งผลให้ความสามารถในการลำเลียงเลือดลดลง ส่วนหลอดเลือดสมองอุดตันมักเกิดจากลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมองเอง หรือเกิดจากลิ่มเลือดในร่างกายไหลไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดสมองจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ รวมถึงโรคที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ เช่น เบาหวาน

สำหรับภาวะหลอดเลือดสมองแตกเกิดจากผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง ร่วมกับไขมันสูงจนทำให้เส้นเลือดขาดความยืดหยุ่น แตกเปราะง่าย ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลัน ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤติอย่างมาก ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยเสี่ยง

โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งที่ปรับเปลี่ยนได้และปรับเปลี่ยนไม่ได้ สืบเนื่องมาจากอายุ เพศ การดูแลสุขภาพ และการใช้ชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้

  •  ความดันโลหิตสูง คือปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงสุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทั้งแตกและอุดตัน โดยผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่มีความดันสูงถึง 8 เท่า
  •  ไขมันในเลือดสูง เมื่อไขมันสะสมตามผนังหลอดเลือดจนตีบตันและขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทั้งหลอดเลือดสมองตีบและแตกโดยมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
  •  เบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 1.8-6 เท่า เนื่องเบาหวานทำให้หลอดเลือดแข็งและแตกเปราะง่าย
  •  โรคหัวใจบางชนิด ที่ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ลอยไปอุดตันใน หลอดเลือดสมอง
  •  หลอดเลือดแดงแคโรทิดตีบชนิดที่ไม่มีอาการ เสี่ยงมากกว่าคนปกติ 2 เท่า
  •  สูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์จะไปลดปริมาณออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมอง รวมถึงทำลายผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2-3 เท่า
  •  ความอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ทำให้เป็นโรคต่างๆ ที่ส่งผลให้หลอดเลือดสมองผิดปกติ เสี่ยงมากกว่าคนปกติ 1.3 เท่า

ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

  •  อายุ ผู้มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป พบว่ามีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นเกือบ 50% ในทุกๆ 10 ปี เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมไปตามวัย หลอดเลือดหนาขึ้น ขาดความยืดหยุ่น หรือมีไขมันสะสมและหินปูนเกาะตามผนังหลอดเลือด
  •  เพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
  •  ประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองเช่นกัน
  •  เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันและเปลี่ยนแปลงได้

  •  ควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ให้อยู่ในเกณฑ์
  •  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์
  •  งดสูบบุหรี่
  •  ตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงตรวจหาปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
  •  หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ควรรับการรักษาและปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์ รวมถึงรีบพบแพทย์ทันที หากสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น อ่อนแรง ชาครึ่งซีก ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ
  •  หากพบอาการเตือนที่แสดงว่าหลอดเลือดสมองตีบ แม้อาการจะหายไปเอง ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัย

อาการของโรค หลอดเลือดสมอง

เนื่องจากสมองขาดเลือดจึงไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยจะแสดงอาการมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ดังนี้

  •  รู้สึกชาหรืออ่อนแรงบริเวณใบหน้า หรือส่วนของร่างกายด้านใดด้านหนึ่งโดยทันที
  •  พูดช้าลง พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว ไม่เข้าใจคำพูด
  •  ปวดศีรษะ เวียนศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุแบบฉับพลัน
  •  ตาพร่ามัว หรือเห็นภาพซ้อนทันทีทันใด
  •  เดินเซ หรือทรงตัวลำบาก

อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจมีอาการเกิดขึ้นชั่วคราวแล้วหายไป หรืออาจเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนสมองจะขาดเลือดแบบถาวร ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เช่นกัน

การตรวจหาปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองสามารถชี้ตำแหน่งหลอดเลือดสมองผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงหาความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ก่อนเกิดอาการ โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

  •  ตรวจความเข้มข้นและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  •  ตรวจระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และไขมันในเลือด
  •  ตรวจค่าการอักเสบของหลอดเลือด
  •  ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) ว่ามีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติหรือไม่
  •  ตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง (Transcranial Doppler Ultrasound)
  •  ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูหลอดเลือดสมอง หรือมีภาวะสมองขาดเลือด
  •  ตรวจหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasound)

การรักษาโรค หลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีความแตกต่างระหว่างหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันและหลอดเลือดสมองแตก โดยหากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน จะทำการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ ซึ่งจะได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการและอาจยืดระยะเวลาไปถึง 24 ชั่วโมง ถ้ามาใน รพ.ที่สามารถให้การรักษาด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดแดงเพื่อลากเอาลิ่มเลือดออก

สำหรับหลอดเลือดสมองแตก อาจต้องรีบทำการผ่าตัดในกรณีที่เลือดออกมาก เพื่อควบคุมปริมาณเลือดที่ออก และรักษาระดับความดันโลหิต ป้องกันสมองเสียหาย

การดูแลหลังการรักษา

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการรักษาทันท่วงทีสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ แม้บางรายจะต้องใช้เวลาก็ตาม แต่ในบางกรณีผู้ป่วยอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่และต้องได้รับการดูแลและปรับตัวจากผลกระทบโรคหลอดเลือดสมอง เช่น อัมพฤกษ์หรืออัมพาต ต้องมีทีมสหสาขาในการดูแลผู้ป่วยครบทุกด้าน

ที่สำคัญที่สุดคือปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ รวมถึงรับประทานยา และพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด การรักษาไม่สม่ำเสมอทำให้ผู้ป่วยฟื้นฟูไม่ได้ผลเต็มที่ รวมถึงอาจกลับมาเป็นซ้ำ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สอบถามเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
ประเภทคำถาม*
ประเภทคำถาม*
คำถามของคุณ*
คำถามของคุณ*
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?