สัญญาณเตือนไขมันพอกตับช่วยให้ผู้มีอาการสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ แต่หากไม่แน่ใจควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยตรวจร่างกาย เพื่อระบุว่าเกิดภาวะไขมันพอกตับหรือไม่หรืออยู่ในระดับใด ซึ่งโรคไขมันพอกตับแบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ
ระยะแรก เป็นช่วงที่มีไขมันแทรกอยู่ตามเนื้อตับ(steatosis) แต่ยังไม่เกิดการอักเสบ หรือเกิดพังผืดในตับ เป็นระยะที่ยังไม่มีอาการใดๆ อาจตรวจร่างกายพบมีตับโตกว่าปกติได้
ระยะที่สอง ตับเริ่มมีการอักเสบ ตรวจพบค่าการทำงานของตับผิดปกติได้โดยที่ผู้ป่วยอาจยังไม่มีอาการ หากละเลยไม่พบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา อาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง (steatohepatitis)
ระยะที่สาม เมื่อตับมีภาวะอักเสบเรื้อรังอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลาย จนเกิดพังผืดในตับ(fibrosis) โดยที่ตับยังสามารถทำงานได้ปกติ การรักษาที่ระยะนี้ทำได้เพียงป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบและพังผืดมากขึ้นได้เท่านั้น
ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายจนเกิดพังผืดทั่วทั้งตับเกิดภาวะตับแข็ง (cirrhosis) ทำให้ตับไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และสามารถเกิดเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด
นอกจากขั้นตอนการตรวจไขมันพอกตับเบื้องต้นด้วยการคลำบริเวณท้อง ดูว่าตับมีลักษณะโตผิดปกติ รวมถึงประเมินความเสี่ยงของไขมันพอกตับ ประวัติการดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ยังมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่อง Fibroscan