ดูแลอย่างไรให้หัวใจลูกแข็งแรง - โรคหัวใจในเด็ก ป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ดูแลอย่างไรให้หัวใจลูกแข็งแรง - โรคหัวใจในเด็ก ป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

HIGHLIGHTS:

  • โรคหัวใจในเด็ก โดยเฉพาะ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด พบเป็นอันดับต้นๆ ในทารกขวบปีแรก หนึ่งในนั้นสาเหตุจากแม่มีภาวะเบาหวาน หรือได้รับเชื้ออย่างเช่น หัดเยอรมัน ระหว่างตั้งครรภ์
  • การวางแผนก่อนตั้งครรภ์มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการตรวจความพร้อมของสุขภาพทั้งพ่อและแม่ หากพบปัญหาแพทย์จะได้ดูแลให้คำแนะนำได้ทันที เพื่อให้ลูกน้อยปลอดภัยและสมบูรณ์แข็งแรง

โรคหัวใจในเด็ก นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของทารกและเด็กที่อายุน้อยกว่าหนึ่งปีในหลายๆ ประเทศ

โดยปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีมากถึงหนึ่งในสามของความบกพร่องทางอวัยวะส่วนอื่นๆ

เด็กทารกบางรายสามารถตรวจพบความผิดปกติของหัวใจได้ตั้งแต่ก่อนคลอดหรือตรวจพบทันทีหลังคลอด ในขณะที่เด็กบางคนพบความผิดปกติ แต่ไม่ส่งผลจนกว่าจะโตขึ้น หรือพบเมื่อมีอาการรุนแรงจนเกิดอันตรายยากเกินเยียวยาแล้ว

จากการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่มักเกิดจากขณะตั้งครรภ์ แม่มีภาวะติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะหัดเยอรมัน รวมถึงการได้รับยาบางชนิดในช่วง 6-12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์  ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดมากถึง 50 % ที่เหลืออีก 50% เป็นการรักษาด้วยยา และการรักษาตามอาการ แต่อย่างไรก็ดี โรคหัวใจในเด็กยังไม่สามารถบอกสาเหตุที่แน่ชัดได้

ดูแลหัวใจลูกให้แข็งแรง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

หัวใจ เป็นอวัยวะชุดแรกที่เริ่มพัฒนาตั้งแต่ 4 สัปดาห์แรกของทารกในครรภ์   โดยจะพัฒนาต่อเนื่องอย่างรวดเร็วไปตลอด   2 สัปดาห์  ซึ่งช่วง 6 สัปดาห์นี้เองที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ชื่นชมหัวใจของลูกน้อยผ่านการอัลตร้าซาวด์  ซึ่งช่วงนี้เป็นระยะที่ตัวอ่อนสามารถได้รับเชื้อโรคได้ง่าย เช่น  เบาหวาน และหัดเยอรมัน ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่คุณแม่ควรให้ความใส่ใจดูแลเรื่องความสะอาด อาหาร รวมถึงควันบุหรี่ และการได้รับยาบางชนิดที่อาจส่งผลต่อความพิการของหัวใจได้

ทางการแพทย์จะเปลี่ยนการเรียกตัวอ่อนเป็นทารกเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 10  โดยหัวใจของทารกเริ่มมีโครงสร้างที่สมบูรณ์  เวลานี้เองที่นอกจากการได้เห็นร่างกายของทารกครบทุกส่วนแล้ว ยังจะได้ยินเสียงหัวใจของทารกผ่านเครื่องมือฟังเสียงหัวใจทารกที่เรียกว่า (Doppler sound wave stethoscope)  โดยเสียงหัวใจทารกปกติมีความเร็วประมาณ 160 ครั้งต่อนาที แต่หากเทียบกับการเต้นของหัวใจผู้ใหญ่จะถือว่าเต้นเร็วมาก   และเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 12  การเต้นของหัวใจของทารกจะค่อยๆ ลดลง จนถึงการตั้งครรภ์ช่วง 28 – 38 สัปดาห์  หัวใจทารกจึงพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์

ปัจจัยเสี่ยง โรคหัวใจในเด็ก หรือหัวใจพิการแต่กำเนิด

ของทารกในครรภ์ ได้แก่ คุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะเบาหวาน หรือติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัดเยอรมัน ความผิดปกติของโครโมโซมคุณแม่ ที่ส่งผลให้ทารกในครรภ์มีหัวใจเต้นผิดปกติ  มีภาวะบวมน้ำ หรือเติบโตช้า รวมถึงมีหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด  ครอบครัวมีประวัติโรคหัวใจแต่กำเนิด

อย่างไรก็ตามการตรวจหัวใจทารกในครรภ์ด้วยการอัลตร้าซาวด์ไม่สามารถบอกความผิดปกติของหัวใจทารกในครรภ์ได้ครอบคลุมทั้งหมด เนื่องจากโรคหัวใจในเด็กบางครั้งอาจตรวจพบหลังจากคลอดแล้ว หรือเมื่อเติบโตไปได้ระยะหนึ่ง

คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองเพราะมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของหัวใจและสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ ดังนี้

  • วางแผนก่อนการตั้งครรภ์
    โดยการตรวจสุขภาพทั้งคุณพ่อและคุณแม่ หากพบปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยาต่างๆ ที่อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ รวมถึงการรับประทานวิตามินบำรุงก่อนการตั้งครรภ์ เช่น กรดโฟลิกที่ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้รับประทานล่วงหน้าก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 2-3 เดือน
  • ฝากครรภ์ทันทีเมื่อตั้งครรภ์
    ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และพบแพทย์เพื่อติดตามอาการสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนัก
    ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มเร็วและมากเกินไปเพราะอาจส่งผลให้ทารกเป็นเบาหวานได้
  • งดสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
    รวมถึงหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ เพราะจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ ของทารก
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
    โดยปรึกษาแพทย์หรืออยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส
    อย่าวิตกกังวลมากเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    ครบ 5 หมู่ เพิ่มอาหารมีกากใย หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และรสจัด ดื่มน้ำให้เพียงพอ

 

หากพบความผิดปกติ เช่น ความดันโลหิตสูง เลือดออกช่องคลอด ให้พบแพทย์ทันที

ทำอย่างไรเมื่อตรวจพบ โรคหัวใจในเด็ก

ตามที่บอกว่าโรคหัวใจในเด็ก บางครั้งจะแสดงอาการขึ้นภายหลัง การดูแลรักษาจึงมีทั้งกระบวนการประคับประคองด้วยการใช้ยาในผู้ป่วยเด็กที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ให้การดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ควบคุมผู้ป่วยให้ออกกำลังกายเบาๆ หรือตามคำแนะนำของแพทย์  รวมถึงไม่ผลักดันให้เด็กที่เป็นโรคหัวใจเกิดความเครียดหรือฝึกกีฬาอย่างหักโหม หากพบว่าเด็กเกิดภาวะเขียวจากระดับออกซิเจนลดลง ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและ ประเมินการรักษาซึ่งอาจจะต้องใช้วิธีการผ่าตัด ในกรณีที่จำเป็น ไม่สามารถรักษาด้วยยา

เพราะหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่เริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ไปจนตลอดชีวิต คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ตลอดระยะตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคหัวใจในเด็ก  ทั้งสูตินรีแพทย์และกุมารแพทย์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  นอกจากนี้หากทารกแรกเกิดหรือตรวจพบภายหลังว่าเป็นโรคหัวใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตื่นตระหนกหรือเป็นกังวลมากเกินไป ควรทำความเข้าใจ โรคหัวใจในเด็ก ว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยกุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ  อย่าลืมว่า “หัวใจลูกแข็งแรงได้ด้วยหัวใจแข็งแกร่งของคุณพ่อและคุณแม่”

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?