ต่อมอะดีนอยด์โต กับปัญหาการนอนหลับและการนอนกรนในเด็ก

ต่อมอะดีนอยด์โต กับปัญหาการนอนหลับและการนอนกรนในเด็ก

HIGHLIGHTS:

  • ต่อมอะดีนอยด์โต สังเกตได้จากอาการหลักๆ คือ “คัดจมูก” และ “นอนกรน” ในช่วงนอนตอนกลางคืน  มักเกิดกับเด็กช่วงอายุ 3 - 6 ปี  ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับ  
  • หากตรวจพบต่อมอะดีนอย์โตและมีอาการรุนแรง อาจทำให้ไปขวางทางเดินหายใจส่วนบนทำให้หยุดหายใจขณะหลับ ขาดออกซิเจน อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ ช่วยให้อาการหยุดหายใจขณะหลับดีขึ้นได้ถึง 85% 

ต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid gland) เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณด้านหลังโพรงจมูกเหนือขึ้นไปจากต่อมทอนซิล ไม่สามารถมองเห็นได้จากทางช่องปาก  ต่อมอะดีนอยด์เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่คอยดักจับแบคทีเรียหรือไวรัสที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน เมื่อมีการติดเชื้อในร่างกายต่อมอะดีนอยด์จะโตและอักเสบขึ้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ภาวะต่อมอะดีนอยด์โตส่วนใหญ่จะตรวจพบในเด็กช่วงอายุ 3 - 6 ปี โดยเป็นสาเหตุของเด็กนอนกรน 7%  และทำให้เกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับได้ 2%  

ต่อมอะดีนอยด์มีหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคในวัยเด็กเพียงช่วงอายุ 2-12 ปี เมื่อเด็กโตขึ้นต่อมอะดีนอยด์ จะค่อยๆ ลดบทบาทลง จนไม่มีผลต่อการป้องกันโรคใดๆ เมื่อเป็นผู้ใหญ่   

สาเหตุที่ทำให้ต่อมอะดีนอยด์โต

การบวมของต่อมอะดีนอยด์เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่เข้าทางจมูก ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายในการป้องกันการติดเชื้อ เมื่ออาการติดเชื้อบรรเทาลงต่อมอะดีนอยด์ก็จะหดตัวกลับสู่ขนาดปกติได้เอง  อย่างไรก็ตามเด็กบางคนต่อมอะดีนอยด์จะยังคงบวมอยู่แม้ร่างกายจะไม่มีอาการติดเชื้อแล้วก็ตาม  ในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังหรือเป็นหวัดเรื้อรังซ้ำซาก  อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ต่อมอะดีนอยด์โตขึ้นได้เช่นกัน

ผลกระทบต่อเด็กเมื่อมีภาวะต่อมอะดีนอยด์โต

  • แนวของขากรรไกรไม่ตรง เนื่องจากหายใจทางปากอย่างต่อเนื่อง 
  • ติดเชื้อที่หูชั้นกลาง  เมื่อมีภาวะต่อมอะดีนอยด์โตจะไปขัดขวางการไหลเวียนของอากาศเข้าและออกจากหูชั้นกลางและจะมีของเหลวสะสมอยู่ จนเกิดปัญหาการได้ยินและการพูดได้
  • เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  เนื่องจากผลของอะดีนอยด์ทำให้ระบบทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น
  • เด็กนอนหลับไม่สนิท ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ 
  • มีเชื้อโรคหลบซ่อนอยู่ในตัวเนื้ออะดีนอยด์ กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เป็นเหตุให้เด็กเป็นหวัดเรื้อรัง

อาการที่เกิดจากภาวะต่อมอะดีนอยด์โต

ภาวะต่อมอะดีนอยด์โตเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยสังเกตเห็นอาการได้ในช่วงเวลากลางคืน  โดยมี 2 อาการหลักๆ คือ “คัดจมูก” และ “นอนกรน”  แต่อาจพบอาการอื่นร่วมด้วย  ดังนี้

  • นอนกระสับกระส่าย
  • มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
  • เจ็บคอ
  • กลืนอาหารลำบาก
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม
  • หูชั้นกลางอักเสบ ทำให้หูอื้อและได้ยินเสียงน้อยลง
  • หายใจทางปาก ส่งผลให้ริมฝีปากแห้ง ลอก มีกลิ่นปาก 
  • คัดจมูกและน้ำมูกไหลเรื้อรัง

ต่อมอะดีนอยด์โตทำให้เกิดปัญหานอนกรน ส่งผลด้านพัฒนาการ ทำให้เด็กสมาธิสั้นได้

ปัญหาเด็กนอนกรนเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุพบบ่อยที่สุด คือภาวะต่อมอะดีนอยด์โต เนื่องจากติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ทั้งนี้ทางเดินหายใจส่วนบนของเด็กมีขนาดเล็ก หากต่อมอะดีนอยด์โตอาจทำให้ไปขวางทางเดินหายใจส่วนบนทำให้หยุดหายใจขณะหลับ ขาดออกซิเจน และอาจมีกลุ่มที่รุนแรงจนเสียชีวิตได้   

นอกจากนี้ปัญหานอนกรนจากภาวะต่อมอะดีนอยด์โต หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม   จะส่งผลต่อพัฒนาการที่ช้าลง เนื่องจากขาดออกซิเจนขณะหลับ ทำให้มีปัญหาของสมองและระบบประสาท ส่งผลให้การเรียนแย่ลง อาจร้ายแรงจนเป็นโรคสมาธิสั้น  รวมถึงอาจส่งผลต่อลักษณะโครงสร้างใบหน้า  เนื่องจากต้องอ้าปากหายใจขณะหลับ และภาวะต่อมอะดีนอยด์โตยังส่งผลถึงการนอนที่ผิดปกติ  ทำให้เด็กพักผ่อนไม่เพียงพอ และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น  โรคสมาธิสั้น  การเจริญเติบโตที่น้อยกว่าปกติ ภาวะปัสสาวะรดที่นอนในเด็กโต รวมถึง ภาวะหัวใจวายที่เกิดจากการขาดออกซิเจนขณะนอนหลับบ่อยครั้ง

ดังนั้น หากพบว่าลูกมีภาวะนอนกรน  ไม่ควรละเลยหรือมองเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ  ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างเหมาะสม         

การวินิจฉัยอาการของต่อมอะดีนอยด์โต

แพทย์จะทำการสอบถามประวัติและอาการผิดปกติ โดยหากแพทย์พบประวัติว่ามีความผิดปกติ จะสั่งตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ช่วงคอเพื่อดูขนาดของต่อมอะดีนอยด์ ตรวจเลือดเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ  โดยหากตรวจพบว่ามีอาการรุนแรง แพทย์อาจส่งตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep Test) ซึ่งต้องนอนในโรงพยาบาล เพื่อติดตั้งเครื่องมือตรวจจับและบันทึกสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น  การหายใจ คลื่นสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การขยับของทรวงอก ระดับออกซิเจนและระดับคาร์บอนไดออกไซด์  

การรักษาภาวะต่อมอะดีนอยด์โตในเด็ก

การรักษาต่อมอะดีนอยด์โตจะพิจารณาการรักษาต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบ  ดังนี้ 

  • หากมีสาเหตุจากอาการภูมิแพ้อาจให้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ให้ใช้ยาพ่นจมูกเพื่อช่วยบรรเทาอาการบวม 
  • กรณีมีอาการอักเสบติดเชื้อ แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจนกว่าจะหายดี   
  • การผ่าตัด หากรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเด็กยังมีอาการนอนกรนและป่วยบ่อย แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด   ซึ่งการวิจัยทางการแพทย์ได้ยืนยันแล้วว่าการผ่าตัดไม่ได้ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง  และช่วยให้อาการหยุดหายใจขณะหลับดีขึ้นได้ถึงร้อยละ 85% 
    (การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์เป็นการผ่าตัดผ่านช่องปาก Adenoidectomy ไม่มีรอยแผลผ่าตัดให้เห็นภายนอก) 

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์

  • แพทย์จะทำตรวจร่างกายว่าเด็กแข็งแรง มีสุขภาพดีพอและประเมินปัจจัยเสี่ยงสำหรับการผ่าตัด 
  • งดน้ำ งดอาหาร 8 ชั่วโมง (แพทย์จะเลือกทำการผ่าตัดในช่วงเช้าเพื่อให้เด็กไม่รู้สึกหิว)  

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์

  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ร้อนจัด ในช่วง 1 สัปดาห์   
  • ดูแลรักษาความสะอาดช่องปากด้วยการแปรงฟัน
  • หลีกเลี่ยงกีฬาว่ายน้ำอย่างน้อย 3 สัปดาห์
  • แนะนำให้หยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์
  • แม้การผ่าตัดนำต่อมอะดีนอยด์ออก มักไม่พบผลข้างเคียง  แต่อาจมีการติดเชื้อ หรือเลือดออกหลังผ่าตัดได้ ดังนั้น ผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กรับประทานยาและปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ
  • หลังผ่าตัดอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์

การป้องกันไม่ให้ต่อมอะดีนอยด์โต

ภาวะต่อมอะดีนอยด์โตพบได้บ่อยในเด็กและมักไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาการจะดีขึ้นและหายได้เองเมื่อโตขึ้น หากผู้ปกครองมีความกังวล สามารถพาเด็กไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อเริ่มสังเกตเห็นอาการตามที่กล่าวมา ซึ่งคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้ควบคุมภาวะต่อมอะดีนอยด์โตได้ 

ข้อมูลสำคัญในการดูแลและป้องกันไม่ให้ต่อมอะดีนอยด์โต

โรคต่อมอะดีนอยด์โตในเด็ก เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยมากจะมาพบแพทย์ด้วยอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล คล้ายภูมิแพ้ ร่วมกับมีอาการนอนกรน ซึ่งอาการนอนกรนถือเป็นสัญญาณเตือนสำคัญ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกต หากพบลูกนอนกรนบ่อยๆ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อหาสาเหตุและรีบรักษา

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?