ก้อนที่เต้านม ตรวจและรักษาได้ในคราวเดียว ด้วยเครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศ (VABB)

ก้อนที่เต้านม ตรวจและรักษาได้ในคราวเดียว ด้วยเครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศ (VABB)

Highlights:

  • มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสำหรับผู้หญิง
  • ผู้หญิงเมื่ออายุ 40 ปี ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมปีละครั้ง แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมทางพันธุกรรมหรือครอบครัว ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25-30 ปีขึ้นไป
  • เทคโนโลยี Vacuum assisted breast biopsy (VABB) เป็นวิธีที่ทำได้สะดวกและมีความชัดเจนสูง สามารถตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้ในคราวเดียว แผลเล็ก เจ็บน้อย ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล และสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อย่างรวดเร็ว

มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของสตรีทั่วโลก ในไทยพบผู้ป่วยใหม่ถึง 50 คน/วัน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน และเสียชีวิตถึง 13 คน/วัน ดังนั้น ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมปีละครั้ง ด้วยแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เต้านม แม้ไม่มีอาการผิดปกติ แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมทางพันธุกรรมหรือครอบครัว ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25-30 ปีขึ้นไป

ก้อนที่เต้านม แบบไหนเสี่ยง “มะเร็ง”

  • เนื้องอกในเต้านม คือ มวลหรือกลุ่มของเซลล์ผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย หากคลำพบเนื้องอก อาจเป็นได้ทั้งที่เป็นมะเร็งและที่ไม่ใช่มะเร็งก็ได้ ส่วนใหญ่เมื่อคลำพบก้อนเนื้อในเต้านมแล้วควรจะต้องตรวจด้วยแมมโมแกรม หรืออัลตร้าซาวด์เต้านม ซึ่งเนื้องอกสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย อาจส่งผลต่อกระดูก ผิวหนัง เนื้อเยื่อ ต่อมและอวัยวะต่างๆ ได้
  • หินปูนในเต้านม คือ การสะสมของแคลเซียมที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อเต้านม คลำด้วยมือเปล่าไม่เจอ จะพบได้จากการตรวจแมมโมแกรม อาจเป็นได้ทั้งที่เป็นหินปูนเนื้อดีหรือหินปูนที่เป็นเนื้อร้าย ซึ่งต้องดูจากขนาด รูปร่าง และการกระจายของหินปูน หรือหากจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อแยกโรคมะเร็ง

หากตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมแล้วพบความผิดปกติ แพทย์จะส่งเจาะชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อไป

ในปัจจุบันการวินิจฉัยเนื้องอกบริเวณเต้านมสามารถทำได้พร้อมกับการรักษา ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย “Vacuum assisted breast biopsy” (VABB) ซึ่งราคาค่อนข้างสูง จึงจำกัดใช้เพียงบางโรงพยาบาลที่มีความพร้อมเท่านั้น นอกจากนี้แพทย์ผู้ลงมือทำหัตถการจำเป็นต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งเต้านม หรือรังสีแพทย์ที่มีประสบการณ์เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

เทคโนโลยี Vacuum assisted breast biopsy (VABB) คืออะไร

Vacuum assisted breast biopsy (VABB) คือ เทคโนโลยีเจาะดูดชิ้นเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศ เป็นวิธีที่ทำได้สะดวกและมีความชัดเจนสูง สามารถตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้ในคราวเดียว มีแผลเล็ก เจ็บน้อย ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญ คือ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆ ก่อนทำหัตถการ (ในกรณีทำหัตถการแบบฉีดยาชาเฉพาะที่)

เจาะชิ้นเนื้อตรวจมะเร็งเต้านม ด้วยวิธี VABB เจ็บไหม มีวิธีการอย่างไร

หลังจากตรวจพบความผิดปกติบริเวณเต้านม แต่ต้องการนำชิ้นเนื้อออก แพทย์จะทำการฉีดยาชาบริเวณที่ต้องการเจาะ กรณีผู้ป่วยกลัวหรือมีความกังวลสามารถขอให้แพทย์ใช้วิธีวางยาสลบได้ จากนั้นใช้เข็มขนาดเพียง 5 มิลลิเมตร เจาะลงไปบริเวณที่ตรวจพบเนื้องอกหรือหินปูนเพียงครั้งเดียว สามารถดูดด้วยระบบสุญญากาศเพื่อเอาเนื้องอกหรือหินปูน ขนาดไม่เกิน 2-3 เซนติเมตรออกมาได้ทั้งหมด

เมื่อเสร็จแล้วกดบริเวณแผลอย่างน้อย 15 นาที ทำการประคบเย็นประมาณ 1 ชั่วโมง สุดท้ายปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ปลอดเชื้อ สามารถกลับบ้านได้ทันที โดยไม่ต้องเย็บแผล กรณีผู้ป่วยกลัวยาชาสามารถดมยาสลบ เมื่อตื่นก็กลับบ้านได้เช่นกัน

กรณีส่งตรวจชิ้นเนื้อพบว่าไม่ใช่มะเร็ง แพทย์จะทำการนัดติดตามอาการ 6 เดือน - 1 ปี กรณีเป็นเนื้อร้าย แพทย์จะทำการพิจารณาเพื่อทำการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ข้อดีของเทคโนโลยี Vacuum assisted breast biopsy (VABB)

  • สามารถวินิจฉัยและรักษาในคราวเดียว
  • ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
  • ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
  • สามารถทำในแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) 
  • ลดผลกระทบจากการผ่าตัด 
  • ประหยัดค่าใช้จ่าย
  • แผลขนาดเล็กเพียง 3 – 5 มิลลิเมตร
  • เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว
  • สามารถกลับบ้านได้ทันที

ข้อจำกัดของ Vacuum assisted breast biopsy (VABB)

  • หินปูนหรือก้อนเนื้อควรมีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร หากเกิน 2-3 เซนติเมตร อาจมีรอยช้ำบริเวณรอบๆ แผล
  • หินปูนหรือก้อนเนื้อไม่ควรมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง โดยลักษณะก้อนเนื้อตะปุ่มตะป่ำ ไม่กลม ส่วนใหญ่เป็นก้อนเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (Fibroadenoma)  นอกจากนี้ยังพิจารณาร่วมกับการตรวจเมมโมแกรม (BIRADS)  โดยค่า  BIRADS ต้องไม่เกิน 4a
  • ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดแข็งตัวผิดปกติ หรือโรคเลือด
  •  กรณีกลับบ้านแล้วเลือดไหลไม่หยุด ต้องรีบกลับมาพบแพทย์ทันที
  • หลังการรักษา ควรงดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหรือยกของหนักประมาณ 1 สัปดาห์

VABB เหมาะกับใคร

  • ตรวจพบเนื้องอกหรือหินปูนที่ไม่ใช่มะเร็ง
  • กังวลใจอยากตัดก้อนเนื้อหรือหินปูนออก
  • กลัวผลกระทบจากการผ่าตัด
  • ไม่มีเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในการพักฟื้น

นอกจากการตัดก้อนเนื้อที่เต้านมด้วยเครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศ หรือ VABB ปัจจุบันยังมีอีกหลายวิธี ที่นิยมคือการสลายก้อนด้วยความเย็นติดลบ (Cryoablation) โดยใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปในก้อน ปล่อยความเย็นติดลบให้เนื้องอกฝ่อ แต่ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าการผ่าตัดรักษาแบบเดิมและการเจาะดูดชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดใหญ่ รวมถึงเข็มสุญญากาศ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?