การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่ คลื่นวิทยุ และคอมพิวเตอร์ร่วมกัน เพื่อสร้างภาพอวัยวะและโครงสร้างภายในร่างกายโดยละเอียด
การตรวจแมมโมแกรมอาจไม่สามารถตรวจพบมะเร็งทั้งหมดได้ เนื่องจากมะเร็งบางชนิดอาจมองไม่เห็นในภาพแมมโมแกรม หรือมะเร็งอาจมีขนาดเล็กเกินไป รวมถึงอาจอยู่ในบริเวณที่มองเห็นได้ยาก ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือประวัติของรอยโรคมะเร็งเต้านมก่อนกำหนด แพทย์อาจแนะนำการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรม
การวิจัยล่าสุดพบว่า MRI สามารถค้นหารอยโรคที่เต้านมขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังสามารถช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมในผู้ที่มีการปลูกถ่ายเต้านม รวมถึงผู้หญิงที่อายุน้อย ซึ่งมักมีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น นอกจากนี้การตรวจด้วยวิธี MRI ยังเป็นการตรวจที่ไม่ได้ใช้รังสี จึงเหมาะใช้ในการตรวจคัดกรองผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 40 ปี และเพื่อเพิ่มจำนวนการตรวจคัดกรองต่อปีสำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อมะเร็งเต้านม
อย่างไรก็ตาม MRI เต้านมก็มีข้อจำกัด เช่น ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างความผิดปกติของมะเร็งได้เสมอไป ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจชิ้นเนื้อเต้านมโดยไม่จำเป็น และไม่สามารถระบุว่าเป็นหินปูนหรือการสะสมของแคลเซียมขนาดเล็กที่สามารถบ่งชี้มะเร็งเต้านมได้
แนวทางล่าสุดจากสมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) แนะนำการตรวจ MRI เต้านมสำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูง โดยพิจารณา ดังนี้
- ผู้หญิงที่มีการกลายพันธุ์ของ BRCA1 หรือ BRCA2 (BRCA1 เป็นยีนซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะบ่งบอกถึงโอกาสที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมต่อมะเร็งเต้านม ส่วน BRCA2 เป็นยีนที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะบ่งบอกถึงโอกาสสืบทอดต่อมะเร็งเต้านมและ/หรือรังไข่)
- ผู้หญิงที่มีญาติใกล้ชิด (แม่ พี่หรือน้องสาว และ / หรือลูกสาว) ที่มีการกลายพันธุ์ BRCA1 หรือ BRCA2 ที่ยังไม่เคยได้รับการทดสอบการกลายพันธุ์
- ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มกว่าค่าเฉลี่ย โดยคำนวนจากแบบประเมินด้วยระบบคอมพิวเตอร์
- ผู้หญิงที่เคยได้รับรังสีรักษาบริเวณหน้าอก เมื่อตอนอายุ 10-30 ปี เช่น การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin’s lymphoma)