ตรวจคัดกรองมะเร็ง รู้ก่อน ลดความเสี่ยง

ตรวจคัดกรองมะเร็ง รู้ก่อน ลดความเสี่ยง

Highlight:

  • WHO แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปี แม้ไม่มีอาการใดๆ เพื่อค้นหาความผิดปกติของเซลล์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น    
  • มะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาได้ หากพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รวมถึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้
  • การตรวจคัดกรองหายีนมะเร็ง เป็นทางเลือก และมีส่วนช่วยในการค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะในมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้

การมีสุขภาพดี ปราศจากโรคภัย เป็นความต้องการพื้นฐานของทุกคน นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการตรวจสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายแล้ว ยังเป็นการค้นหาความผิดปกติของโรคต่างๆ ก่อนลุกลาม สามารถรักษาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะโรคร้ายแรง อย่างโรคมะเร็งต่างๆ ที่หากพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นอาจรักษาให้หายได้

การตรวจมะเร็งทางเลือกด้วยการ ตรวจยีนมะเร็ง

มนุษย์มีสารพันธุกรรมหรือยีน (Gene) เป็นตัวกำหนดลักษณะหลากหลายในร่างกาย ทั้งสีผิว กรุ๊ปเลือด ความสูง รวมถึงความผิดปกติที่อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง

โดยทั่วไปแล้วปัจจัยการเกิดมะเร็งประมาณ 90-95% มาจากสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สารเคมี และพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ที่เหลืออีก 5-10% เกิดจากพันธุกรรมที่ถูกถ่ายทอดและติดตัวมาแต่กำเนิด ทั้งนี้หากเราตรวจทราบได้แต่เนิ่นๆ เราสามารถช่วยคนในกลุ่มที่มียีนมะเร็งนี้ได้ โดยช่วยป้องกันโรคก่อนที่จะเกิดอาการแสดง

ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์อันทันสมัย การตรวจค้นหายีนมะเร็งสามารถทำได้แม้ยังไม่เป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะในผู้มีความเสี่ยงสูง เช่นจากบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งหลายคน หรือเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยวิธีการตรวจหายีนมะเร็ง (Genetic Cancer Screening) เพื่อดูแนวโน้มหรือโอกาสเสี่ยงของตนเอง ปัจจุบันสามารถตรวจมะเร็งได้หลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งที่พบบ่อยและส่งผลทางพันธุกรรมอย่างชัดเจน ได้แก่  มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ 

ผู้ที่ควรตรวจยีนมะเร็ง ได้แก่

  • ผู้ที่มีความกังวลและต้องการทราบความเสี่ยงโรคมะเร็ง 
  • ผู้ที่มีประวัติ ญาติสายตรงเป็นมะเร็งมากกว่า 2 คนขึ้นไป หรือมีญาติสายตรงเป็นมะเร็ง 1 คน เมื่ออายุน้อยกว่า 50 ปี
  • มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งจากพันธุกรรม

วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจากพันธุกรรม

การตรวจยีน ทำได้โดยการป้ายเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากกระพุ้งแก้ม หรือ การเจาะเลือด  และฟังผลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ พร้อมคำปรึกษาในกรณีที่ตรวจพบว่าแนวโน้มเป็นโรคมะเร็งสูง ซึ่งเป็นการตรวจที่แม่นยำและสะดวกมาก

วิธีอ่านผลการตรวจยีนมะเร็ง

  • ผลตรวจเป็นลบ (Negative) หมายความว่า ไม่พบความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งจากพันธุกรรม อย่างไรก็ตามควรดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียด เนื่องจากโรคมะเร็งเกิดจากหลากหลายปัจจัย 
  • ผลตรวจเป็นบวก (Positive) ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งจากพันธุกรรม แพทย์ให้คำแนะนำและวางแผนการดูแลสุขภาพ ด้วยการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ เพื่อลดโอกาสเกิดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง นอกจากนี้แพทย์จะทำการนัดตรวจเป็นระยะ โดยเฉพาะการตรวจเพิ่มเติมนอกจากการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง  

การตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็ง

การตรวจสุขภาพประจำปี มีความจำเป็นอย่างมากในการช่วยคัดกรองโรคมะเร็งในประชากร จุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาความผิดปกติของเซลล์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก่อนจะกลายเป็นมะเร็งหรือทำให้เกิดอาการรุนแรง องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งได้รับการยอมรับและมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเช่น มีประวัติ คนในครอบครัวเป็นมะเร็งเมื่ออายุยังน้อย โรคมะเร็งหลายชนิดหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกจะสามารถทำให้คนไข้ ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ หายขาดได้ รวมถึงช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็ง เพื่อหาผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง มีดังนี้

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

ผู้หญิงตั้งแต่อายุ 40 ขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมเพื่อลดการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ทั้งนี้กรณีผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือตรวจพบการกลายพันธุ์ที่เป็นอันตรายในยีน BRCA1 หรือยีน BRCA2 แพทย์อาจพิจารณาตรวจด้วยวิธี MRI เพิ่มเติม

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 

การทดสอบเพื่อหาเชื้อ Human papillomavirus (HPV) ด้วยวิธี HPV DNA Test  และการตรวจ Pap test เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่สามารถป้องกันโรคได้ เนื่องจากช่วยให้สามารถพบเซลล์ที่ผิดปกติและรักษาได้ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 21 – 65 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทุก ๆ 3 – 5 ปี เพื่อลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต  ทั้งนี้ สมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) แนะนำให้ผู้หญิงที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เข้ารับการตรวจหาโอกาสการเกิดโรคเช่นเดียวกับหญิงที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเช่นกัน

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

สมาคมมะเร็งอเมริกันแนะนำให้ผู้ชายอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนัก Digital rectal examination (DRE) และการเจาะเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostatic Specific Antigen : PSA) หรืออาจทำร่วมกันทั้ง 2 วิธี

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

สมาคมมะเร็งอเมริกัน และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute) แนะนำให้ผู้หญิงและผู้ชายที่อายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy)  และการตรวจอุจจาระ  ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักตรวจคัดกรองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เมื่ออายุ 45 - 75 ปี อย่างน้อยทุก ๆ 5 – 10 ปี

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

สมาคมมะเร็งอเมริกันแนะนำให้ผู้ที่สูบบุหรี่จัด รวมถึงผู้ที่เลิกบุหรี่ไปแล้วภายใน 15 ปี ที่อายุตั้งแต่ 50-80 ปีขึ้นไป ต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด โดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ  หรือทีซีสแกน (CT Scan)  บริเวณทรวงอกทุกปี ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าลดการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดได้  

​​​​​​​การตรวจเลือดอัลฟาฟีโตโปรตีน  (Alpha – fetoprotein / AFP) ร่วมกับอัลตร้าซาวด์ตับ เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งตับตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยง  ซึ่งค่า AFP ปกติของคนทั่วไปคือ AFP=<15 ng/ml นอกจากนี้หลักฐานทางการแพทย์พบว่า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งตับ ดังนั้นการตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี (Anti – HCV) จึงสามารถใช้ประเมินหาความเสี่ยงและเฝ้าระวังการเป็นมะเร็งตับได้

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่  

​​​​​​​การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง CA 12-5 และ HE4 ในกระแสเลือด ร่วมกับอัลตร้าซาวด์มดลูกและรังไข่ (Transvaginal Ultrasound)  เพื่อตรวจหามะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะสตรีที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ในผู้ที่มีอาการ และสามารถใช้เพื่อประเมินการกลับมาเป็นซ้ำได้   โดยเมื่อเทียบกับผู้หญิงปกติพบว่า ประมาณ 80 – 85% ของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งรังไข่มีระดับ CA 12-5 และ HE4 สูงขึ้น 

การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก

เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปีโดยไม่มีอาการ เพื่อค้นหาเซลล์ผิดปกติ ซึ่งอาจกลายเป็นโรคมะเร็ง  เนื่องจากมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รวมถึงช่วยลดภาวะเสียชีวิตลงได้ 

การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกสามารถทำได้ดังนี้

  • การซักประวัติ  ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน  ประวัติครอบครัว สิ่งแวดล้อม การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงอาการต่างๆ เช่น ภาวะท้องอืด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ไอเรื้อรัง และการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย เป็นต้น  
  • การตรวจร่างกาย  เพื่อวินิจฉัยโรค เช่น ผิวหนัง ศีรษะ  เต้านม ท้อง อวัยวะเพศ ทวารหนัก และลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ช่วยในการวินิจฉัย รักษา และติดตามผลการรักษา ได้แก่
    • ตรวจเลือด
    • ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ
    • ตรวจเลือดทางชีวเคมี
    • เอกซเรย์
    • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
    • การตรวจเนื้อเยื่อทางพยาธิวิทยา

แม้โรคมะเร็งจะเป็นโรคที่อันตรายและน่าวิตกในคนจำนวนมาก แต่มะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจพบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ จากการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงการตรวจค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ด้วยวิธีตรวจยีน (Genetic Cancer Screening) โดยทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์การแพทย์ ที่ช่วยในการวางแผนดูแลสุขภาพ และ แพทย์เฉพาะทางในด้านต่างๆ ที่ช่วยวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?