การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือ การทำอัลตราซาวด์หัวใจ เรียกสั้นๆ ได้ว่า “เอคโค่” (Echocardiogram) คือ ใช้หลักการการส่งคลื่นความถี่สูงลงไปบริเวณหัวใจ แล้วส่งสัญญาณกลับเพื่อแสดงผลภาพเป็นเงาตามลักษณะความหนาบางของเนื้อเยื่อหัวใจที่ตกกระทบ
เอคโค่หัวใจ เป็นการตรวจเพื่อดูการเคลื่อนไหวของหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ รูปร่างและความหนาของหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจว่ามีลักษณะตีบหรือรั่วหรือไม่ ตรวจภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ภาวะหัวใจโต รวมถึงตรวจหาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการให้การรักษารวมถึงการพยากรณ์โรคในลำดับถัดไป
อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่สามารถเห็นหลอดเลือดหัวใจโดยตรง อีกทั้งในกรณีอ้วนหรือผอมมากๆ ก็อาจได้ภาพไม่ชัดเจน การตรวจวิธีนี้ เป็นวิธีที่แม่นยำ ปลอดภัย ไม่มีความเจ็บปวด รวดเร็วเพียง 30-45 นาทีเท่านั้น อีกทั้งไม่มีผลข้างเคียงอีกด้วย
กลุ่มที่ควรเข้ารับการตรวจเอคโค่หัวใจ
- ผู้ที่มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก มีอาการบวม และสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคหัวใจ
- ผู้ที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติ และสามารถใช้ตรวจติดตามอาการในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก ที่สงสัยว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจโต
- ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขแล้ว แต่ยังมีรอยโรคหลงเหลืออยู่
- ผู้ป่วยที่มีค่าความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ที่สงสัยว่าอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจเอคโค่หัวใจ หรือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง
- สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่ต้องงดอาหารหรือยาที่ทานเป็นประจำก่อนตรวจ ยกเว้นการตรวจที่ทำร่วมกับการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test: EST) ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
ข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง
ท่านสามารถดูแลสุขภาพหัวใจได้ โดยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพิ่มการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เน้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค พยายามออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที และควบคุมอาหารให้ดี หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารเค็มจัด มันจัด ดื่มน้ำเปล่ามากๆ เลือกผักและผลไม้ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 - 40 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเป็นการคัดกรองภาวะที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันได้ โดยสามารถปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจเพื่อรับการตรวจตามความเหมาะสมและความเสี่ยงของแต่ละบุคคล