ตรวจภายใน ไม่น่ากลัว ลดเสี่ยงโรค

ตรวจภายใน ไม่น่ากลัว ลดเสี่ยงโรค

HIGHLIGHTS:

  • มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสี่ในผู้หญิงทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยเป็นอันดับต้นๆ 
  • มะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
  • แม้ผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์  อาจไม่มีความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก  แต่การตรวจภายใน  สามารถตรวจเช็กความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้อย่างไร

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสี่ของผู้หญิงทั่วโลก อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 9-14 ปี ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus- HPV)  สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอื่นๆ  การตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 25 ปี ยังช่วยให้สามารถตรวจพบโรคมะเร็งปากมดลูกได้

ดังนั้นการเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคด้วยการตรวจภายใน จึงมีความสำคัญสำหรับผู้หญิง ซึ่งมีอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานที่มีความสำคัญและซับซ้อน เชื่อมโยงระบบสืบพันธุ์หลายส่วน ทั้งปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก และรังไข่

ประโยชน์ของการตรวจภายใน

เมื่อพูดถึงการตรวจภายใน (Pelvic Exam) ผู้หญิงส่วนใหญ่มักรู้สึกเขินอาย โดยเฉพาะสาวโสดที่ยังไม่เคยแต่งงาน หรือมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์  อาจไม่มีความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก  แต่การตรวจภายในสามารถตรวจเช็กความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หากไม่การอักเสบรุนแรง ดังนั้นการตรวจภายในจึงเป็นการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ใครบ้างที่ควรตรวจภายใน

  • ผู้หญิงอายุ 25 ปี ขึ้นไป 
  • หากมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย สามารถเข้ารับการตรวจภายในได้ โดยไม่ต้องรอให้อายุถึง 25 ปี 
  • ปวดเชิงกรานหรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ประจำเดือนผิดปกติ หรือตกขาวผิดปกติ 
  • มีความกังวลเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • อาการผิดปกติอื่นๆ บริเวณท้องน้อย หรืออวัยวะเพศ

การเตรียมตัวก่อนตรวจภายใน

เพื่อให้การตรวจภายในมีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรเตรียมตัวก่อนตรวจภายใน ดังนี้

  • เข้ารับการตรวจหลังประจำเดือนหมดสนิทประมาณ 1 สัปดาห์ หรือก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไปประมาณ 1 สัปดาห์ 
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด หรือใช้ยาเหน็บทางช่องคลอดก่อนการตรวจภายใน 2 วัน
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนเข้ารับการตรวจ อย่างน้อย 1 วัน
  • สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่ควรสวมกางเกงที่รัดจนเกินไป
  • กรณีมีประจำเดือน และปวดท้องประจำเดือนมากจนทนไม่ไหว และอยากตรวจภายในเพื่อวินิจฉัย สามารถพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนหมดก่อน
  • สำหรับปัญหาตกขาว สามารถเข้ารับการตรวจ โดยไม่จำเป็นต้องชำระล้าง

ขั้นตอนการตรวจภายใน

  • เจ้าหน้าที่จะให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เพื่อความสะดวกในการตรวจ
  • ขึ้นขาหยั่ง โดยนอนลง พาดขา 2 ข้าง บนที่วางขา  
  • แพทย์จะใช้อุปกรณ์ speculum ลักษณะคล้ายปากเป็ด ร่วมกับการใช้นิ้วตรวจภายในช่องคลอด  
  • กรณีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก  แพทย์จะใช้อุปกรณ์เข้าไปเก็บเซลล์ปากมดลูก เพื่อนำไปตรวจต่อไป
  • ใช้เวลาตรวจภายในประมาณ 10 นาที  
  • ขณะตรวจ อาจรู้สึกตึงๆ เจ็บๆ ในช่องคลอด อาการจะหาย เมื่อตรวจภายในเสร็จสิ้นแล้ว

หลังการตรวจภายใน

โดยทั่วไปหลังการตรวจภายใน สามารถทราบผลภายในวันเดียว หากผลเป็นปกติก็สามารถกลับบ้านได้ทันที หากทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไม่ว่าจะด้วยวิธีแปปสเมียร์ หรือ ตินเพร็พ (Thin Prep) หรือ การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA ต้องรอผลประมาณ 1-2 สัปดาห์   

กรณีตรวจพบสิ่งผิดปกติ แพทย์อาจทำการนัด เพื่อเข้าตรวจภายในด้วยวิธีอื่นตามความเหมาะสมต่อไป

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

ปัจจุบันข้อมูลทางวิชาการชี้ชัดแล้วว่าสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก คือการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus) หรือ HPV โดยการมีเพศสัมพันธ์ ปกติร่างกายสามารถกำจัดไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมาได้เอง แต่บางครั้งร่างกายก็ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง (HPV สายพันธุ์ 16 และ 18)

อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบได้เร็วในระยะก่อนเป็นมะเร็ง แต่สาเหตุสำคัญที่ยังพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกจำนวนมากในหญิงไทย คือผู้หญิงส่วนใหญ่มักปฏิเสธการตรวจภายในเนื่องจากความอาย หรือไม่กล้าเข้ารับการตรวจ

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

  • การตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (Thinprep Pap Test)  การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทางเซลล์วิทยาเช่นเดียวกัน  โดยพัฒนามาจากการตรวจวิธีแปปสเมียร์ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ใด มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น ประมาณ 80 - 90%
  • การตรวจ Thinprep Plus HPV DNA Testing  ซึ่งเป็นการตรวจที่พัฒนามาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกมากกว่า 90 % โดยการตรวจร่วมกันระหว่างการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก Thinprep  และการตรวจดีเอ็นเอของเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสามารถตรวจพบความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อย่างเจาะลึกถึงการติดเชื้อ HPV 16 และ HPV 18   และสายพันธุ์กลุ่มอื่นๆ 

วิธีการตรวจ Thinprep Plus HPV DNA Testing

มีขั้นตอนการตรวจเช่นเดียวกันกับการตรวจภายใน โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูก จากนั้นนำเซลล์ใส่ลงในขวดเก็บตัวอย่างที่มีน้ำยา Thinprep  ทำหน้าที่แยกเซลล์ออกจากสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ และทำให้เซลล์มีความหนาแน่นมากขึ้น ก่อนนำไปตรวจทางเซลล์วิทยา นอกจากนี้ยังแยกเซลล์ที่เก็บได้ส่งตรวจด้วยน้ำยา HPV DNA Testing  ซึ่งเป็นการตรวจในระดับโมเลกุล เพื่อหาเชื้อ HPV ความเสี่ยงสูง

หากผลการตรวจหาเชื้อ HPV และการตรวจเซลล์มะเร็ง Thinprep ให้ผลเป็นลบทั้งคู่ จึงสามารถเว้นการตรวจออกไปเป็นทุก 3-5 ปี แทนการตรวจประจำทุกปี ด้วยวิธีแปปสเมียร์ หรือ Thinprep เพียงอย่างเดียว

การป้องกันโรคย่อมดีกว่าการรักษา  การตรวจภายในไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนคิด หากเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนที่มีอายุ 25 ขึ้นไป โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ควรเข้ารับการตรวจภายใน รวมถึงตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธีการตรวจ Thinprep Plus HPV DNA Testing ซึ่งได้ผลแม่นยำ อีกทั้งหากตรวจไม่พบความเสี่ยงใดๆ ยังสามารถเว้นจากการตรวจทุกปีเป็นทุกๆ 3 ปี  

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?