ของหวานคือความพึงพอใจของใครหลายคน โดยเฉพาะขนมไทยที่หอมหวานชวนกิน ไม่ว่าจะเป็นขนมถ้วย หม้อแกง ตะโก้เผือก หรือเปียกปูน รวมถึงขนมในงานมงคลต่างๆ อย่างฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน และอีกสารพัด แม้ขนมไทยจะไม่มีนม เนย แต่ก็มีแป้ง น้ำตาล และไข่เป็นส่วนผสมหลัก หากกินแป้ง หรือน้ำตาลมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานซึ่งเป็นภัยเงียบ ถ้าหากปล่อยจนเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขึ้นตา ไตวาย และที่พบเห็นบ่อยคือแผลที่รักษาไม่หาย จนทำให้ต้องถูกตัดขา
รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแห่งประเทศไทย พบว่าอัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยได้เพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน เฉลี่ยมากถึง 20-26 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำให้รับประทานน้ำตาลเพียงแค่วันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) เทียบง่ายๆ โดยน้ำตาล 4 กรัม เท่ากับ 1 ช้อนชา จะเห็นได้ว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินจากปริมาณที่แนะนำหลายเท่าตัว โดยน้ำตาลอาจแฝงมาในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะขนมไทยชนิดต่างๆ เนื่องจากขนมหวานไทยมีวิธีปรุงและตักแบ่งขายโดยไม่มีบรรจุภัณฑ์มาตรฐานที่ระบุคุณค่าอาหารและปริมาณน้ำตาลไว้ให้เห็นชัดเจน
ชื่อขนม | ปริมาณ | น้ำหนัก(กรัม) | ปริมาณน้ำตาล (กรัม) |
ขนมเปียกปูน | 1 ชิ้น | 50 | 10 |
ข้าวต้มมัดไส้กล้วย | 1 ชิ้น | 70 | 10.5 |
ข้าวเหนียวสังขยา | 1 ห่อ | 100 | 19 |
ข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง | 1 ห่อ | 100 | 22 |
ขนมทองหยอด | 1 ลูก | 9 | 5.1 |
ขนมเม็ดขนุน | 1 เม็ด | 8 | 3 |
ขนมฝอยทอง | 1 แพ | 32 | 12.8 |
การเลี่ยงของหวาน อาจไม่จำเป็นต้องหักดิบเลิกของหวานโดยเด็ดขาด แต่สามารถทำได้โดยค่อยๆ ลดปริมาณลงวันละนิด จนกว่าร่างกายจะปรับตัวกับความหวานที่น้อยลง แม้ขนมไทยจะมีความหอมหวานและรสชาติอร่อย แต่ความหวานที่มากเกินไปเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน โรคที่ค่อยๆ กัดกินสุขภาพ จนอาจทำให้สูญเสียอวัยวะและถึงแก่ชีวิตในที่สุด
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่