สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกในปี 2560 มีประมาณ 425 ล้านคน และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทย ช่วงอายุ 20-79 ปี มีมากถึง 8.3% ของประชาการ และจำนวนมากกว่าครึ่งไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน คือภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินลดลง หรือการที่อวัยวะของร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน จนเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้มีน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง อาจสูญเสียอวัยวะที่สำคัญ หรือตาบอด เนื่องจากภาวะเบาหวานขึ้นตา
เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) คือ ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่ส่งผลต่อดวงตา สามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ยิ่งเป็นเบาหวานนานขึ้นและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยลง โอกาสที่จะเป็นเบาหวานขึ้นตาก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
เบาหวานขึ้นตาระยะแรก อาจไม่แสดงอาการใดๆ หรือไม่ส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและมองข้ามความสำคัญของการตรวจตา จนเมื่อแสดงอาการ อาจสายเกินไป อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แม้อยู่ในระยะรุนแรงแล้วก็ตาม ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานควรเข้ารับการตรวจตาตามแพทย์แนะนำ รวมถึงหมั่นสังเกตอาการ ดังนี้
เบาหวานขึ้นตาเกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน เมื่อเวลาผ่านไป น้ำตาลในเลือดมากเกินไปอาจนำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงเรตินา (Retina) ทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่ได้ ส่งผลให้ดวงตาพยายามสร้างเส้นเลือดใหม่ แต่หลอดเลือดใหม่เหล่านี้ไม่พัฒนาอย่างถูกต้องและอาจรั่วไหลได้ง่าย ซึ่งทําให้ผู้ป่วยเบาหวานตาบอดได้มากกว่าคนปกติถึง 25 เท่า ทั้งนี้การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขึ้นจอตาได้
ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน ควรเพิ่มการตรวจตาและขยายม่านตาเพื่อตรวจจอตา แม้ไม่มีอาการ เกี่ยวกับการมองเห็นใดๆ เพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยทุก 1-2 ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ขึ้นกับระยะของเบาหวานขึ้นตาและความรุนแรงของโรค
การตรวจตาเป็นประจำ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต รวมถึงการสังเกตภาวะการมองเห็นในระยะเริ่มต้น สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างรุนแรงได้
วิธีรักษาเบาหวานขึ้นตาขึ้นกับระยะของโรค กรณีตรวจพบเบาหวานขึ้นตาระยะแรก อาจยังไม่จำเป็นต้องรักษาในทันที การควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตและไขมันในเลือด รวมถึงพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ช่วยลดโอกาสภาวะของโรคที่รุนแรงและสูญเสียการมองเห็น
เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเบาหวานมากมาย ที่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วย ภาวะเบาหวานขึ้นตามักไม่แสดงอาการใดๆ ในช่วงแรก หรือมีปัญหาการมองเห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากรอจนมีอาการมักสายเกินไป ดังนั้นการตรวจตาตั้งแต่แรกเป็นเบาหวานจึงเป็นสิ่งสําคัญ
โรคเบาหวานไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นเสมอไป การควบคุมเบาหวาน ดูแลสุขภาพ พบแพทย์ตามนัดและปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ สามารถช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้เป็นอย่างดี
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่