เจ็บเข่าจากการเล่นกีฬา

เจ็บเข่าจากการเล่นกีฬา

HIGHLIGHTS:

  • หัวเข่าเป็นอวัยวะที่มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้บ่อยขณะเล่นกีฬา
  • กีฬาที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อเข่าบ่อยมักเป็นกีฬาที่ต้องมีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว เช่น แบดมินตัน บาสเกตบอล ฟุตบอล หรือกีฬาที่ต้องมีการกระทบกระแทกกัน เช่น อเมริกันฟุตบอล ยูโด เทควันโด เป็นต้น
  • การบาดเจ็บของข้อเข่าจะพบอาการบวมในหัวเข่า ซึ่งอาจเกิดในทันทีหรือเกิดขึ้นภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ขึ้นกับความรุนแรงขณะได้รับบาดเจ็บ
  • วิธีรักษาขึ้นกับระดับความรุนแรงขณะบาดเจ็บ และความต้องการของผู้ได้รับการบาดเจ็บที่จะกลับไปเล่นกีฬาภายหลัง

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบันผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และส่งเสริมให้เล่นกีฬากันมากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บขึ้นและอวัยวะที่พบการบาดเจ็บได้บ่อย คือ “การบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า”

รู้จัก…ข้อเข่า

โครงสร้างหลักของเข่า ประกอบด้วย

  • กระดูก (Bone) ประกอบด้วยกระดูกหลัก 3 ชิ้น คือ กระดูกต้นขา (Femur) กระดูกหน้าแข้ง (Tibia and Fibula) และกระดูกลูกสะบ้า (Patella)
  • เส้นเอ็น (Ligaments) ประกอบด้วย 4 เส้นหลัก คือ เส้นเอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament) เส้นเอ็นไขว้หลัง (Posterior Cruciate Ligament ) เส้นที่เอ็นด้านในของหัวเข่า (Medial Collateral Ligament ) และเส้นเอ็นด้านนอกของหัวเข่า (Lateral Collateral Ligament )
  • โครงสร้างอื่นๆ เช่น กระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มข้อ

โครงสร้างที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บขณะเล่นกีฬาด้วยกันทั้งสิ้น

เจ็บเข่าจากการเล่นกีฬา

กีฬากับการบาดเจ็บ “ข้อเข่า”

การเล่นกีฬาทุกประเภทมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บข้อเข่าได้ทั้งสิ้น แต่กีฬาที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บข้อเข่าได้บ่อย คือกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว หรือที่ต้องใช้กำลังในการปะทะ เช่น แบดมินตัน บาสเกตบอล ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล ยูโด เทควันโด เป็นต้น

ข้อควรปฏิบัติภายหลังเกิดการบาดเจ็บข้อเข่าคือ หยุดเล่นกีฬาทันทีและทำการประคบเย็นโดยใช้ Cold Pack หรือน้ำแข็งห่อผ้าประคบบริเวณหัวเข่า เพื่อลดการอักเสบ ปวด บวม แนะนำลดการเคลื่อนไหวหรือหลีกเลี่ยงการเดินลงน้ำหนักเข่าข้างที่ได้รับบาดเจ็บ และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของการบาดเจ็บ

อาการของการบาดเจ็บ “ข้อเข่า”

ผู้ได้รับบาดเจ็บจะมีอาการเจ็บเวลาขยับหัวเข่าโดยเฉพาะตอนเดินลงน้ำหนัก และบวมในข้อเข่า ซึ่งอาจเกิดทันที หรือเกิดหลังจากอุบัติเหตุ 1-2 ชั่วโมง หรืออาจเกิดในเวลาถัดไปก็ได้ ขึ้นกับโครงสร้างที่ได้รับบาดเจ็บและระดับความรุนแรง

ข้อเข่าหรือกระดูกอาจผิดรูปได้หากมีการแตกหักหรือเคลื่อนหลุดของกระดูกข้อเข่า ผู้บาดเจ็บบางรายอาจได้ยินเสียงดังขึ้นขณะบิดข้อเข่า ซึ่งเป็นเสียงของการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า หัวเข่าของผู้ได้รับบาดเจ็บจะบวมขึ้นทันทีหรือภายหลังการบาดเจ็บ 1-2 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถเหยียดเข่าได้ตรง งอเข่าได้ไม่เต็มที่ และหากมีการบาดเจ็บร่วมกับเส้นเอ็นอื่นหรือหมอนรองกระดูก ผู้ได้รับบาดเจ็บมักจะเจ็บมากจนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้  ซึ่งในกรณีนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การวินิจฉัยการบาดเจ็บ “ข้อเข่า”

แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และเอกซเรย์ข้อเข่า ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเครื่องเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยการบาดเจ็บของเส้นเอ็น และหมอนรองกระดูกข้อเข่า

การรักษาอาการ เจ็บเข่าจากการเล่นกีฬา

แพทย์ศัลยกรรมกระดูกจะทำหน้าที่ประเมินและวินิจฉัย ซึ่งแนวทางการรักษาขึ้นกับปัจจัย ดังต่อไปนี้

  • มีการบาดเจ็บของโครงสร้างใดในข้อเข่า
  • มีการบาดเจ็บของข้อเข่าเพียงโครงสร้างเดียว หรือมีการบาดเจ็บร่วมหลายส่วนในข้อเข่า
  • ความคาดหวังตลอดจนพฤติกรรมของผู้ได้รับบาดเจ็บต่อการกลับไปเล่นกีฬาให้ได้เหมือนเดิม

สำหรับวิธีรักษามีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ได้แก่ การรับประทานยาระงับอาการปวด หรือระงับการอักเสบ การทำกายภาพบำบัด การฉีดยาเฉพาะจุดหรือการฉีดยาเข้าข้อ จนถึงการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery)  เพราะผู้รับการผ่าตัดจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า มีความเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัดน้อยกว่า

คำถามที่พบบ่อย

1.ในกรณีที่เส้นเอ็นไขว้หน้าได้รับการบาดเจ็บจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้นหรือไม่?

“การรักษาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไขว้หน้าไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเสมอไป อย่างไรก็ตาม เอ็นไขว้หน้าที่ฉีกขาดจะไม่สามารถประสานกันได้ ผู้ที่มีเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดที่ไม่ได้รับการผ่าตัดสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปได้ แต่ควรเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว เพราะหัวเข่าที่ไม่มีเอ็นไขว้หน้าจะหลวม ทำให้มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของโครงสร้างอื่นๆ ในหัวเข่าได้”

2.การรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด มีการรักษาแบบใดบ้าง?

“การรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดมี 2 วิธี คือ

  • วิธีไม่ผ่าตัด เป้าหมายของการรักษาแบบนี้เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและอาการปวดในหัวเข่าเท่านั้น โดยเส้นเอ็นที่ฉีกขาดไม่สามารถประสานกันได้เหมือนเดิม ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีนี้จึงเหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอายุมาก กิจกรรมไม่โลดโผน ไม่ได้เล่นกีฬาที่ต้องมีการเคลื่อนไหวเร็ว หรือเปลี่ยนทิศทาง หรือกีฬาที่ต้องปะทะ แพทย์จะรักษาโดยให้ทานยาลดปวดและอักเสบ ภายหลังอาการดีขึ้นแล้ว ผู้บาดเจ็บต้องฝึกการเคลื่อนไหวข้อเข่าเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อเข่าติด ร่วมกันกับการบริหารกล้ามเนื้อเพิ่มความแข็งแรง ทั้งกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ด้านหลัง กล้ามเนื้อสะโพก และกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว เพื่อมาช่วยพยุงข้อเข่า
  • วิธีการผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และต้องการกลับไปเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม แพทย์จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery) โดยมีจุดประสงค์ที่จะทำให้ข้อเข่ามีความมั่นคงใกล้เคียงเดิมมากที่สุด โดยการนำเส้นเอ็นจากส่วนอื่นของร่างกายมาแทนเส้นเอ็นไขว้หน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเส้นเอ็นที่ถูกนำมาใช้ส่วนใหญ่จะนำมาจาก 2 ตำแหน่ง คือ เส้นเอ็นบางส่วนของเส้นเอ็นลูกสะบ้า หรือเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อหลังหัวเข่า ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง จะช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ใช้เวลาในการนอนโรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน”

3.หากเลือกวิธีการรักษาแบบผ่าตัดแล้ว สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมหรือไม่?

“เพียงแค่การรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเดียวไม่สามารถทำให้กลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม ผู้ที่รับการผ่าตัดจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดบริหารกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง นอกจากนี้ต้องฝึกทักษะการทรงตัวและการเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ รวมถึงฝึกทักษะของการทำงานร่วมกันระหว่างกล้ามเนื้อหลายส่วน จึงจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงเดิมมากที่สุด”

4.หากเข้ารับการผ่าตัดเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดและทำกายภาพบำบัด รวมถึงบริหารกล้ามเนื้อตามโปรแกรมแล้ว จะต้องใช้เวลานานแค่ไหน จึงจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม?

“โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 8-9 เดือน จึงจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ใกล้เคียงเดิม”

5.หากเส้นเอ็นไขว้หน้าได้รับการบาดเจ็บแต่ไม่ได้รับการรักษาหรือการผ่าตัด ในอนาคตจะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่?

“ในกรณีที่มีเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ข้อหัวเข่าจะหลวม และมีโอกาสเกิดภาวะเข่าเสื่อมได้ก่อนวัยอันควร ซึ่งภาวะเข่าหลวมอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บกับโครงสร้างอื่น ๆ เช่น กระดูกอ่อน หมอนรองกระดูกและเส้นเอ็นเส้นอื่น ตามมาอีกได้ อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ในการผ่าตัดรักษา เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด เพื่อทำให้ข้อเข่ามีความมั่นคงใกล้เคียงเดิมและช่วยให้กลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันว่าการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดสามารถป้องกันการเกิดภาวะเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ “

6.มีวิธีใดที่จะป้องกัน การบาดเจ็บของข้อเข่าจากการเล่นกีฬาได้บ้าง?

“ก่อนเล่นกีฬาทุกครั้งควรวอร์มอัพกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อพร้อมใช้งาน และจำเป็นต้องบริหารกล้ามเนื้อให้ยืดหยุ่นและมีความแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ด้านหลัง กล้ามเนื้อสะโพก และกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว นอกจากนี้การฝึกการทรงตัว รวมถึงฝึกการทำงานประสานกันระหว่างสมอง กล้ามเนื้อ และข้อเข่า จะช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดการบาดเจ็บของข้อเข่าขณะเล่นกีฬาลงได้”

การเล่นกีฬาเป็นสิ่งที่ดี ช่วยทำให้สุขภาพร่ายกายแข็งแรง แต่ควรเล่นอย่างถูกวิธีและเรียนรู้ที่จะรับมือ ป้องกันกับปัญหาหรืออาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงไม่ละเลยที่จะรักษาอาการบาดเจ็บและไปพบแพทย์เมื่อเกิดอาการผิดปกติ อย่ารอจนอาการนั้นเรื้อรังหรือรุนแรงมากขึ้น

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?