-
การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ (Strain)
การบาดเจ็บจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเอง ซึ่งอาจเกิดจากการหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด จนทำให้หลอดเลือดฝอยบริเวณใยกล้ามเนื้อฉีกขาด หรืออาจเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อมัดนั้นมากเกินไปในเวลาติดต่อกันที่เรียกว่า Overuse (การใช้งานมากเกินไป)
เช่น การเล่นเวท (Weight Training) ที่ใช้น้ำหนักมากเกินไป หรือทำซ้ำติดต่อกันนานเกินไปจนทำให้เกิดการเคล็ดขัดยอก การฟกช้ำ กล้ามเนื้อที่มักได้รับการแบบเจ็บเช่น กล้ามเนื้อแฮมสตริง (Hamstring) กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (Quadriceps muscles)
-
การบาดเจ็บของเอ็น ข้อต่อ (Sprain)
เช่น เอ็นร้อยหวายฉีก ข้อเท้าพลิก และการบาดเจ็บบริเวณ ข้อเท้า ข้อเข่า กีฬาที่มักพบการบาดเจ็บของข้อเข่าหรือข้อเท้าได้บ่อยๆ คือ กีฬาที่ต้องใช้การปะทะ หรือกระทบกระแทกกัน เช่น ฟุตบอล หรือแม้แต่กีฬาที่มีการเคลื่อนไหวทั้งหมดของร่างกาย เช่น กอล์ฟ ซึ่งการบิดตัวและหวดวงสวิงต่างๆ การ ก็ทำให้บาดเจ็บข้อเข่าหรือข้อเท้าได้เช่นกัน
-
การบาดเจ็บที่เข่า (Knee Injury) ซึ่งมีข้อต่อ และเอ็นเป็นส่วนใหญ่
รอบๆ ข้อมีกล้ามเนื้อที่สำคัญ คือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (Quadriceps muscles ) ทำหน้าที่เหยียดข้อเข่า กล้ามเนื้อที่อยู่ต้นขาด้านหลัง (Hamstring muscles) ถ้าส่วนต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งเสียไป หรือทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติก็จะเสียความมั่นคงของข้อเข่า
ส่วนเอ็นใหญ่ 4 เส้น ช่วยเรื่องความมั่นคงของข้อเข่า คือ เอ็นเข่าด้านนอก (Lateral collateral ligament) เอ็นเข่าด้านใน (Medial collateral ligament) เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament) และเอ็นไขว้หลัง (Posterior cruciate ligament) หากเกิดอุบัติเหตุจนเอ็นเหล่านี้บาดเจ็บ หรือฉีกขาดจะส่งผลให้เกิดอาการข้อเข่าหลวม เข่าหลุดได้ ทำให้ไม่สามารถเล่นกีฬาได้ตามปกติ
นอกจากนี้บริเวณเข่ายังมีหมอนรองกระดูกเข่า (Meniscus) ด้านใน และด้านนอกทำหน้าที่รับแรงกระแทกระหว่างกระดูกหัวเข่า ช่วยกระจายน้ำหนักจากการกระแทก เช่น การกระโดดจากที่สูง ก้าวลงบันได การวิ่งกระโดด ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของผิวข้อกระดูกอ่อน
หากมีปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกจะทำให้ผิวข้อกระดูกอ่อนได้รับบาดเจ็บ แบ่งรดับความรุนแรงเป็น 4 เกรดเช่นเดียวกันกับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น นอกจากนี้เข้าเข่ายังประกอบด้วยน้ำไขข้อ ช่วยหล่อลื่นข้อเข่าอีกด้วย

-
กระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ (Runner’s Knee)
นักวิ่งมักพบอาการบาดเจ็บรอบๆ ลูกสะบ้าหัวเข่า โดยเฉพาะเมื่อวิ่งขึ้น-ลง บันได หรือเมื่อนั่งนานๆ แล้วลุกขึ้นจะรู้สึกปวดข้อพับด้านหลังข้อเข่า สาเหตุมาจากการวิ่งในลักษณะขึ้น-ลงเขาบ่อยๆ หรือการเพิ่มระยะทางการวิ่งมากขึ้นในขณะที่ร่างกายยังไม่พร้อม รวมถึงในผู้วิ่งที่มีปัญหาเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางร่างกาย (Core Body Muscle) มีเท้าแบน และกล้ามเนื้อต้นขา (Quadriceps) ไม่แข็งแรง
-
การบาดเจ็บที่หลัง (Back injury)
นักกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวของบั้นเอว ลำตัว ไหล่ และแขนค่อนข้างมาก อย่างกอล์ฟ มักเกิดการดึงรั้งกล้ามเนื้อหลังอย่างมาก มีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวอยู่หลายปล้อง มีผลให้ข้อต่อเล็กๆ ของกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวเกิดการเคลื่อนไหวกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุให้นักกอล์ฟส่วนใหญ่มีอาการปวดหลัง
-
กล้ามเนื้อบวม (Swollen Muscle)
เนื่องจากกล้ามเนื้อบวม ฉีกขาด มีเลือดออก อาจเกิดจากการกระแทก กล้ามเนื้อช้ำ ซึ่งสามารถเกิดกับกล้ามเนื้อส่วนใดก็ได้
-
เอ็นร้อยหวายขาด (Achilles Tendon Rupture)
เอ็นร้อยหวายเป็นเส้นเอ็นที่ยึดระหว่างส้นเท้าและกล้ามเนื้อน่อง ช่วยในการกระดกข้อเท้าขึ้น ลง กีฬาที่ทำให้เกิดการกระแทกจนเอ็นร้อยหวายฉีกขาด ได้แก่ กีฬาที่ต้องกระโดด เช่น แบดมินตัน บาสเกตบอล ฟุตบอล
สามารถเกิดกับกระดูกข้อเท้า กระดูกเข่าและข้อต่อต่าง ๆ
-
ข้อต่อเคลื่อน ผิดตำแหน่ง (Dislocation)
ข้อต่อหลุดหรือเคลื่อนที่ เช่น ข้อเข่าหลุด หรือข้อไหล่หลุด ซึ่งพบได้บ่อย ในนักกีฬา
-
เส้นเอ็นคลุมข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Injury)
กล้ามเนื้อด้านในของไหล่ที่ได้รับบาดเจ็บ มักเกิดกับนักกีฬาที่ต้องใช้หัวไหล่ เช่น เทนนิส แบดมินตัน ใช้แรงหัวไหล่เยอะ ทำให้เสื่อมสภาพตามการใช้งาน เกิดหินปูนงอกกดทับข้อต่อ ทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดได้

