อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain)

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain)

Highlight:

  • อาการปวดสะโพกร้าวลงขา มีอาการปวดจากเอว สะโพกและร้าวลงขาด้านหลัง จนถึงน่องหรือปลายเท้า อาการจะคล้ายไฟฟ้าช็อต มักพบอาการชา ซ่า และกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง 
  • หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการปวดสะโพกฉับพลันรุนแรง ร่วมกับอาการของระบบประสาทร้าวลงขาและมีอาการชา หรืออ่อนแรงบริเวณเท้า และสูญเสียการควบคุมการขับถ่าย ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้
  • การรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขา มีจุดมุ่งหมาย คือ บรรเทาความทรมานจากอาการปวด และ ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค ในกรณีที่ผู้ป่วยล้มเหลวจากการรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม หรือผู้ป่วยมีอาการที่แสดงถึง ภาวะการสูญเสียการทำงานของเส้นประสาท อาจต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัด

ปวดสะโพกร้าวลงขา คืออะไร

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain) หมายถึง อาการปวดจากบริเวณเอว หรือสะโพกและร้าวลงด้านข้าง หรือด้านหลังของขา บางครั้งร้าวลงถึงบริเวณน่องหรือปลายเท้า ตามทางเดินของเส้นประสาทขา (Sciatic nerve) 

ลักษณะอาการปวด

อาจปวดตื้อๆ ปวดเจ็บ ปวดเสียว ปวดแสบปวดร้อน หรือมีอาการคล้ายไฟฟ้าช็อตบริเวณขาหรือเท้า อาจพบอาการอื่นของเส้นประสาทร่วมด้วยได้ เช่น อาการชา อาการซ่า (Tingling) หรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา 

โดยอาการปวดมักแย่ลง เวลานั่งนานๆ ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย และพบอาการปวดร้าวลงขาข้างเดียว มากกว่า 2 ข้าง 

อาการปวดสะโพกร้าวลงขาพบได้บ่อยแค่ไหน และมีความสำคัญอย่างไร?

ในช่วงชีวิตของคน 1 คน พบว่า 50-70% ต้องเคยมีประวัติปวดหลัง และอย่างน้อย 10% ของผู้ที่มีอาการปวดหลัง 
จะมีอาการปวดร้าวลงขาด้วย 

อาการปวดสะโพกร้าวลงขาแบบฉับพลัน (Acute sciatica pain) ส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดี และอาการดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่พบว่าประมาณ 20-30% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีอาการปวดเรื้อรังเกิน 1-2 ปี  ดังนั้น ผู้ป่วยที่เคยมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา จึงต้องให้ความสำคัญกับอาการเหล่านี้ เพราะสามารถมีอาการเรื้อรังได้

ใครมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขา?

ความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขา แบ่งเป็น 2 ปัจจัย คือ 

  1. ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น 
  2. ปัจจัยที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น 
    กิจกรรมหรืออาชีพ  เช่น กิจกรรมหรืออาชีพที่ต้องนั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ เช่น ผู้ประกอบอาชีพหรือกีฬาต้องใช้หลังทำงานหนักๆ

สาเหตุของอาการปวดสะโพกร้าวลงขา

สาเหตุอาการปวดสะโพกร้าวลงขา อาจแบ่งคร่าวๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. อาการปวดสะโพกร้าวลงขาที่เกิดจากกระดูกสันหลัง 
    เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ข้อต่อหลังอักเสบ (Facet joint arthritis) กระดูกสันหลังเคลื่อน หรือหลังคดผิดรูปทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท เป็นต้น
  2. อาการปวดสะโพกร้าวลงขาที่เกิดจากสาเหตุอื่น (ที่ไม่ได้เกิดจากกระดูกสันหลัง) 
    เช่น ข้อต่อเชิงกรานอักเสบ (SI joint arthritis) กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis syndrome) อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังหรือกล้ามเนื้อหลังขาอักเสบ (Hamstrings) และอื่นๆ

ทำอย่างไร? ถ้ามีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดสะโพกฉับพลันรุนแรง ทั้งที่เกิดขึ้นเองหรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุ
  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเกิน 4 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังหรือสะโพกร่วมกับอาการของระบบประสาท เช่น ปวดร้าวลงขา อาการชา หรือ อ่อนแรงบริเวณเท้า หรือสูญเสียการควบคุมการขับถ่าย อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนที่อันตราย ว่าผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

การวินิจฉัยอาการปวดสะโพกร้าวลงขา

เริ่มตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจการทำงานของเส้นประสาทขา (Sciatic nerve) ในรายที่สงสัยว่า อาการปวดร้าวลงขา อาจจะมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์จะส่งตรวจทางรังสีวิทยา เช่น X-ray หรือ การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

การรักษาและการป้องกันอาการปวดสะโพกร้าวลงขา

แบ่งการรักษาเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด (Conservative) และการรักษาโดยการผ่าตัด

  1. การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด 
    มีจุดมุ่งหมาย คือ บรรเทาความทรมานจากอาการปวด และ ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค 
    • ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรค เช่น การนั่งหรือทำกิจวัตรประจำวัน ในท่าที่ผิดลักษณะ  หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงกับการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ การใช้งานหลังมากเกินปกติ 
    • การควบคุมอาการปวดด้วยยา และกายภาพบำบัด 
    • การออกกำลังกายและฝึกกล้ามเนื้อ ที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ 
    • ทางเลือกอื่นในการบรรเทาอาการโดยไม่ผ่าตัดได้แก่ การทำหัตถการบริเวณกระดูกสันหลัง เช่น การฝังเข็มบริเวณกล้ามเนื้อ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงเส้นประสาท (Epidural steroid injection)
  2. การรักษาโดยการผ่าตัด 
    มีข้อบ่งชี้ในกรณีที่ผู้ป่วยล้มเหลวจากการรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม หรือผู้ป่วยมีอาการที่แสดงถึง ภาวะการสูญเสียการทำงานของเส้นประสาท เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

​​​​​​​ปวดหลัง รักษาได้ ทั้งวิธีผ่าตัดหลังและไม่ผ่าตัด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?