ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้กีฬาประเภทวิ่ง เป็นหนึ่งในวิธีการออกกำลังกายยอดฮิตที่ได้รับความนิยมในคนทุกเพศทุกวัยมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่ามีการจัดกิจกรรมวิ่งมาราธอน หรือมินิมาราธอน เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก แม้ว่าการวิ่งจะทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าสภาพร่างกายไม่พร้อมหรือมีความผิดปกติที่เราไม่เคยทราบมาก่อน เช่น มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจในขณะนั้น อาจทำให้เราเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน เหมือนกับนักวิ่งหลายท่านที่พบในข่าว ไม่เว้นแต่ละเดือน และแม้ว่า จะเคยตรวจสุขภาพมาแล้วพบว่าหัวใจยังปกติ แต่การตรวจหัวใจซ้ำก่อนวิ่งในระยะไกลและการเตรียมร่างกายให้พร้อม ฝึกซ้อมบ่อยๆ ให้ร่างกายปรับตัวได้เร็วกว่าคนที่ไม่เคยฝึกซ้อมเลยคือสิ่งที่สำคัญ
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงมีรายงานการเสียชีวิตจากการวิ่งมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจุบันมีนักวิ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องนั่นเอง โดยสถิติพบว่า อายุเฉลี่ยของนักวิ่งที่เสียชีวิตอยู่ที่ 42 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายถึง 86% ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือ ภาวะผนังหัวใจหนาผิดปกติ ส่วนผู้ที่รอดชีวิตนั้นพบว่า สาเหตุหลักเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด และมีประมาณ 10% พบว่ามีประวัติคนครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
สำหรับโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นโรคหัวใจที่มีปัจจัยเสี่ยงจากยีนเป็นหลัก โดย 90% เกิดจากหลายยีน เช่น ยีนไขมันในเลือดสูง ยีนก่อการอักเสบ ส่วน 5-10% เกิดจากยีนเดี่ยวๆที่ก่อโรคหัวใจโดยเฉพาะ และ เป็นยีนที่มีอยู่ในร่างกายตั้งแต่กำเนิด ซึ่งครอบครัวที่มีความเสี่ยงสูง ที่เข้าข่ายมีโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้แก่
-
ครอบครัวที่มีสมาชิกในบ้านเป็นโรคหัวใจแบบเดียวกันในทุกๆ รุ่น
- สมาชิกในครอบครัวเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลวตั้งแต่อายุยังน้อยโดยเฉพาะน้อยกว่า 45 ปีในเพศชายหรือน้อยกว่า 55 ปีในเพศหญิง
- สมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตเฉียบพลันอย่างไม่ทราบสาเหตุหลายคน
- สมาชิกในครอบครัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดจำเพาะต่างๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา กล้ามเนื้อหัวใจขยายผิดปกติ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องขวาล่างเจริญผิดปกติ ใหลตาย กลุ่มอาการนำไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติชนิดลองคิวที (Long QT Syndrome) หลอดเลือดหัวใจแข็งก่อนวัยอันควร กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan syndrome) และอื่นๆ
ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยอาการหรือโรคลักษณะเหล่านี้ ควรเข้าตรวจประเมินสุขภาพแม้ยังไม่มีอาการของโรค เพราะอาจมียีนโรคหัวใจในตัว โดยหากเป็นญาติสายตรง คือ บิดา มารดา บุตรธิดา พี่ น้อง จะมีโอกาสที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมถึง 50 % ซึ่งการตรวจจะทำให้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายซ้ำขึ้นในครอบครัว และได้รับการดูแลรักษาให้เร็วที่สุดก่อนที่จะมีอาการรุนแรง นอกจากนี้ คู่สามีภรรยาที่วางแผนจะมีบุตร หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีประวัติครอบครัวที่อาจจะมียีนโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการมีบุตร เพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้เด็กเกิดมาแล้วเสี่ยงต่อโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
หากตรวจพบยีนโรคหัวใจบางชนิดที่เสี่ยงเสียชีวิต เช่น ยีนโรคใหลตายที่สามารถทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง เราสามารถป้องกันได้โดยฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automatic Implantable Cardiovascular Defibrillator) เข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกหรือ ผู้ที่มียีนกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ซึ่งสามารถกระตุ้นให้มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากการเล่นกีฬาได้ หากได้รับการประเมินจากแพทย์ ก็จะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการดูแลและป้องกันตนเองแบบเฉพาะบุคคล ทั้งนี้ โรคหัวใจที่เกิดจากยีนจะแก้ไม่ได้เพราะอยู่ที่ระดับยีนที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด แต่การตรวจประเมินตามหลักการแพทย์เฉพาะเจาะจง (Precision Medicine)ให้รู้เท่าทันจะช่วยป้องกันการเสียชีวิต และเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์