เราเคยเชื่อว่า การรับประทานถั่วเหลืองมากขึ้น หรือเพิ่มอาหารเสริม เช่น วิตามินอี วิตามินซี หรือซีลีเนียม จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ แต่ปัจจุบันสถาบันวิจัยมะเร็งอเมริกัน (American Institute for Cancer Research) พบว่า “ไม่จริง” เนื่องจากมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ
แน่นอนว่าไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ และยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น พันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น (ความเสี่ยงขณะอายุ 40 ปี อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 48 และเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 26 เมื่ออายุ 60 ปี)
การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม การศึกษาของสมาคมมะเร็งอเมริกัน พบว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10–15 กก.ในช่วงวัยผู้ใหญ่ (หลังอายุ 18 ปี) มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมหลังวัยหมดประจำเดือนมากกว่าผู้หญิงที่น้ำหนักขึ้นไม่เกิน 10 กก. ถึง 40% ยกเว้นผู้ที่ใช้ฮอร์โมนบำบัดในวัยหมดประจำเดือน นักวิจัยยังพบว่าการลดน้ำหนักประมาณ 10 กก. หรือมากกว่าหลังจากหมดประจำเดือนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ออกกำลังกาย โดยสามารถลดความเสี่ยงลงได้ 20–30% ด้วยการออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น การเดินเร็ว เต้นแอโรบิค และโยคะ สัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง การออกกำลังกายยังช่วยลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำในผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งเต้านม
การออกกำลังกายเป็นประจำ มีผลต่อการหมุนเวียนของฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อเต้านม รวมถึงมีผลต่อระดับอินซูลินและ Insulin –like growth factor (IGF) ซึ่งเชื่อมโยงกับการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม
ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์เพียงไม่กี่แก้วต่อสัปดาห์มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเกิดมะเร็งเต้านม รวมถึงแอลกอฮอล์ยังทำปฏิกิริยากับสารก่อมะเร็ง และยับยั้งความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็ง
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้หญิงที่ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะมาจากการรับประทานอาหารหรือได้รับจากแสงแดด มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมลดลง 50% ผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิตามินดี 800–1,000 IU* ต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกและลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามหากได้รับแสงแดดที่มากพอ อาจเพิ่มวิตามินดีเสริม 400 IU ก็เป็นได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสม
การสัมผัสฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายที่ชื่อ เอสโตรเจน ตลอดชีวิตเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากแหล่งภายนอกเพิ่มเติม เช่น การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด การใช้ฮอร์โมนรักษาโรคทางนรีเวชหรือการมีบุตรยาก และการรักษาด้วยฮอร์โมนในหญิงวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน มีการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ้ารับประทานเป็นเวลานานกว่า 1-5 ปีขึ้นไป และความเสี่ยงนั้นจะลดลงเหมือนคนปกติหลังจากหยุดการรับประทานยาเกิน 1 ปี การวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ใน Mayo Clinic Proceedings พบว่าผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนที่ใช้ยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นก่อนอายุ 50 ปี โดยเฉพาะหากเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดก่อนมีลูกคนแรก
ทั้งนี้ ยังมีการทดลองพบว่าการใช้ฮอร์โมนบำบัดร่วมกันในระยะยาว (เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน) เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม และระดับความเสี่ยงจะลดลงหลังจากหยุดฮอร์โมน อย่างไรก็ตามการบำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพิ่มความเสี่ยง นอกจากนี้ยังพบอีกว่าผู้หญิงที่รับประทานยาไดเอทิลสติลเบสตรอล (Diethylstilbestrol-DES) ในระหว่างตั้งครรภ์ (เพื่อลดโอกาสในการแท้งบุตร) มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งเต้านม รวมถึงลูกสาวที่คลอดโดยคุณแม่ที่รับยา DES ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้ยาคุมกำเนิดและการรักษาด้วยฮอร์โมนจะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ยาหรือฮอร์โมน แต่ก็มีประโยชน์ในการรักษาโรคและอาการต่าง ๆ เช่นกัน ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการใช้ฮอร์โมนก่อน
เต้านมประกอบด้วยไขมันและเนื้อเยื่อเต้านม ผู้หญิงบางคนมีไขมันมากกว่าเนื้อเยื่อเต้านม ขณะที่บางคนก็มีเนื้อเยื่อเต้านมมากกว่าไขมัน ผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อเต้านมที่มีความหนาแน่นสูงมีแนวโน้มเพิ่มโอกาสเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมถูกกำหนดโดยปัจจัยต่างๆ เช่น ฮอร์โมน อายุ และเชื้อชาติ กรณีที่เต้านมมีเนื้อเยื่อเต้านมมากกว่า 50% จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “เนื้อเยื่อเต้านมมีความหนาแน่นสูง” ซึ่งผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ระบุว่าประสิทธิภาพการทำแมมโมเกรมที่ใช้ตรวจคัดกรองผู้หญิงที่มีภาวะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงจะลดลง 36 -38% เพราะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมจะบดบังก้อนเนื้อไว้
ลักษณะเหล่านี้พบได้บ่อยในหน้าอกของผู้หญิงที่อายุน้อย แต่ก็พบได้ในผู้หญิงที่มีอายุมากโดยเฉพาะการรักษาด้วยฮอร์โมนร่วม (เอสโตรเจนและโปรเจสติน) ความหนาแน่นของเต้านมส่วนหนึ่งเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เช่นกัน
ด้วยเหตุผลที่ยังไม่แน่ชัดนัก แต่มีความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือเนื้อเยื่อเต้านมที่หนาแน่นมีเซลล์มากกว่า จึงอาจเป็นปัจจัยทำให้เซลล์มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวกลายเป็นเซลล์มะเร็ง อาจเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะเนื้องอกในเต้านม (ทั้งที่เป็นมะเร็งและไม่เป็นมะเร็ง) เนื่องจากพื้นหลังของเนื้อเยื่อเต้านมที่หนาแน่นบนเครื่องแมมโมแกรมจะปรากฏเป็นสีขาว ส่วนเนื้อเยื่อไขมันจะดูเข้มกว่าและมีความแตกต่างกับเนื้องอก ดังนั้นการตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านม เป็นอีกหนึ่งวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ที่สามารถช่วยตอบคำถามหรือแยกแยะเนื้องอกในเต้านม (ทั้งที่เป็นมะเร็งและไม่เป็นมะเร็ง) ที่เกิดจากภาพแมมโมแกรมที่น่าสงสัยได้ แต่ถ้าตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์แล้วไม่สามารถระบุรอยโรคได้แน่ชัด ควรส่งตรวจวินิจฉัยเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI) เพิ่มเติม
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่