ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนึ่งในสิ่งที่ผู้ป่วยมีความกังวลเมื่อเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง คือ อาการปวดที่เกิดหลังจากการผ่าตัด ดังนั้น การระงับปวดหลังผ่าตัดถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งไม่น้อยไปกว่าการผ่าตัด เนื่องจากหากการระงับปวด หลังผ่าตัดเป็นไปได้ด้วยดีแล้วนั้น จะช่วยให้ผู้ป่วยผ่านช่วงเวลาที่มีอาการปวดหลังผ่าตัดไปได้อย่างดี อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟู การทำกายภาพบำบัด และการช่วยเหลือตัวเองอย่างเช่น การนั่ง ยืน เดิน ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นได้อีกด้วย
โดยทั่วไปแล้ว การระงับปวดหลังผ่าตัดจะมีการใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์ เช่น มอร์ฟีน อย่างกว้างขวาง ซึ่งในแง่ของผลลัพธ์นั้น ยากลุ่มโอปิออยด์ให้การระงับปวดได้ค่อนข้างดี แต่การใช้ยากลุ่มนี้เพียงอย่างเดียวในปริมาณมากก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ต่างๆ มากมายตามมา เช่น คลื่นไส้อาเจียน ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและฟื้นตัวได้ช้าลง
ในปัจจุบัน จึงมีเทคนิคการระงับปวดหลังผ่าตัดที่เรียกว่า Multimodal Analgesia ซึ่งเป็นการระงับปวดแบบผสมผสาน กล่าวคือ เป็นการใช้ยาระงับปวดหลายชนิดที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้ผลดีทั้งทางด้านการระงับปวด และหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากการใช้ยาระงับปวดบางประเภทมากเกินไป ซึ่งเทคนิคนี้ทำได้โดย การให้ยากลุ่มโอปิออยด์ผ่านเครื่อง PCA (Patient-Controlled Analgesia) ร่วมกับการให้ยากลุ่มที่ช่วยระงับปวดชนิดอื่นๆ (paracetamol, NSAIDs, coxibs) ผ่านการฉีด โดยการให้ยากลุ่มโอปิออยด์ผ่านเครื่อง PCA นั้น ผู้ป่วยสามารถกดปุ่มปล่อยยาได้ทันทีที่ต้องการ ภายใต้ขีดจำกัดที่สามารถกดได้ในแต่ละวันซึ่งกำหนดโดยวิสัญญีแพทย์ วิธีนี้จึงช่วยเพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้ป่วยในเรื่องของการระงับปวดได้ทันที และช่วยลดปัญหาของการปวดระหว่างการเตรียมยาอีกด้วย
นอกจากการใช้ยาดังกล่าวแล้ว การใช้เทคนิคระงับปวดแบบผสมผสานให้ได้ผลดีต้องประยุกต์ใช้การระงับปวดโดยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ เช่น การให้ยาชาเฉพาะที่ (Fascial Plane Block/Peripheral Nerve Block) คือการฉีดยาชาเข้าไปที่กล้ามเนื้อชั้น Fascia ในบริเวณที่ทำการผ่าตัดเพื่อให้ยาชากระจายไปโดนเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อชั้นนั้นและช่วยระงับปวดในบริเวณนั้นได้ในที่สุด
ทั้งนี้ การเลือกชนิดของยาแก้ปวดและเทคนิคเสริมอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา ขึ้นอยู่กับระดับความปวดของผู้ป่วย ตำแหน่งที่ผ่าตัด และวิธีการผ่าตัดด้วยเช่นกัน กระบวนการทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพได้เร็วและดียิ่งขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้มากยิ่งขึ้น และยังกลับบ้านได้เร็วขึ้นอีกด้วย
แพทย์หญิงอุษณี เสริมดำรงศักดิ์