กล้ามเนื้อคอตึง ปวดหัวไมเกรน รักษาได้อย่างไร

กล้ามเนื้อคอตึง ปวดหัวไมเกรน รักษาได้อย่างไร

Highlights:

  • อาการปวดศีรษะไมเกรนควรได้รับการวินิจฉัยแยกจากโรคปวดศีรษะที่มีสาเหตุร้ายแรง เช่น ภาวะสมองขาดเลือดหรือเลือดออก ออกไปก่อน แล้วจึงวางแผนการรักษา ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความถี่และความรุนแรงของอาการปวด 
  • สัญญาณอันตรายจากอาการปวดศีรษะ เช่น อาการปวดหัวที่เกิดขึ้นทันทีทันใด หรืออาการปวดที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต อาการปวดหัวไมเกรนที่เป็นมากขึ้น หรือมีลักษณะอาการปวดที่แตกต่างจากเดิมที่เคยเป็น ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที
  • การวางแผนการรักษาออฟฟิศซินโดรม เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพสูงสุด จะช่วยลดระยะเวลาในการรักษา และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

อาการปวดที่เกิดจากโรคทางระบบประสาท เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ปวดหลัง หากทิ้งไว้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาจเกิดความทุพพลภาพภายหลังได้ อีกทั้งคนที่มีอาการปวดส่วนมากคิดว่าความเจ็บปวดบางอย่างไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งอาจจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรทำสำหรับผู้ที่มีอาการปวดคือ การได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวด ซึ่งบางครั้งอาจจะมีหลายปัจจัยส่งผลต่อเนื่องกัน เมื่อรู้สาเหตุของอาการแล้ว แพทย์ก็จะให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในปัจจุบันได้มีวิทยาการใหม่ซึ่งสามารถรักษาอาการปวดจากสาเหตุได้อย่างตรงจุด รวมถึงการรักษาเพื่อควบคุมอาการปวด โดยใช้การรักษาแบบผสมผสาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เห็นผลเร็ว และหายขาดได้อีกด้วย

โรคปวดศีรษะชนิดไมเกรน

สาเหตุของการปวดศีรษะไมเกรน เกิดจากการที่มีความผิดปกติของสารสื่อประสาทในเยื่อหุ้มสมองหลั่งออกมาผิดปกติ ส่งผลต่อหลอดเลือดที่อยู่บริเวณผิวสมองเกิดการอักเสบ หลอดเลือดแดงบริเวณผิวสมองหดตัว ทำให้เกิดอาการอื่นที่พบร่วมกับอาการปวดศีรษะ เช่น เห็นภาพเบลอ เห็นแสง วิงเวียน คลื่นไส้ ชา อ่อนแรง ซึ่งเรียกกลุ่มอาการดังกล่าวนี้ว่า Aura และสารสื่อประสาทที่มีผลทำให้หลอดเลือดแดงในชั้นเยื่อหุ้มสมองคลายตัวส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะตุ๊บๆ อย่างรุนแรง โดยตัวกระตุ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ได้แก่

ตัวกระตุ้นจากผู้ป่วยเอง (Intrinsic precipitating factors) 

  • พันธุกรรม มีรายงานพบความสัมพันธ์มากถึง 50%
  • เพศหญิงมีการปวดศีรษะไมเกรนมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า
  • การเปลี่ยนแปลงฮออร์โมน โดยช่วงก่อน/ระหว่าง/หลังมีประจำเดือนในวัยเจริญพันธุ์จะกระตุ้นให้ปวดศีรษะไมเกรนได้มากกว่า
  • การอดนอน
  • ความเครียด

ตัวกระตุ้นจากภายนอก (Extrinsic precipitating factors) 

  • สภาวะแวดล้อม – อากาศร้อน/เย็นจัด ความกดอากาศสูง แสงแดด เสียงดัง กลิ่นเหม็น
  • อาหารบางชนิด เช่น ช็อคโกแลต ชีส ผงชูรส ชา กาแฟ ไวน์
  • การรับประทานยาคุมกำเนิดหรือการบำบัดแทนฮอร์โมน อาจทำให้อาการไมเกรนแย่ลง

อาการของการปวดศีรษะไมเกรน

  • ปวดศีรษะด้านเดียว/สองข้าง/หรือสลับด้านไปมา
  • ลักษณะอาการปวดแบบตุ๊บๆ ปวดรุนแรง
  • อาการปวดกินเวลานาน 4-72 ชั่วโมง
  • มีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ คือ คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการร่วมกับการปวดศีรษะชนิด Aura ซึ่งอาจนำมาก่อน เกิดร่วมกัน หรือหลังอาการปวดศีรษะได้ อาการที่พบได้แก่ ตาพร่า/เห็นแสงคล้ายแฟลช/จุดดำในตา อาการชาโดยเฉพาะรอบปากและมือ อาการอ่อนแรง อาการวิงเวียน
  • อาการมักสัมพันธ์กับตัวกระตุ้นชัดเจน

โดยอาการดังกล่าว ควรได้รับการวินิจฉัยแยกโรคปวดศีรษะที่มีสาเหตุร้ายแรงออกไปก่อน เช่น ภาวะสมองขาดเลือดหรือเลือดออก เป็นต้น เมื่อวินิจฉัยแยกสาเหตุที่ร้ายแรงออกไปแล้ว การวางแผนการรักษาขึ้นอยู่กับความถี่ ความรุนแรงของอาการปวดที่ผู้ป่วยได้รับผลกระทบในการรักษา 
 

การรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน

โดยการรักษาแบ่งเป็นสองขั้นตอนหลักๆ คือ

  • การรักษาอาการปวดเฉียบพลัน ด้วยยาแก้ปวดชนิดรับประทานและชนิดฉีด 
  • การป้องกันอาการปวดศีรษะ ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดบ่อย มีอาการปวดแต่ละครั้งรุนแรง อาการปวดกินเวลายาวนานหรือมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ตามัว เวียนศีรษะ ชา อ่อนแรง โดยรักษาด้วยยาป้องกันอาการปวดซึ่งมีทั้งชนิดรับประทาน และยาฉีด

อีกทั้งควรสังเกตปัจจัยกระตุ้นการปวดศีรษะและหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะ และการรักษาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วยเช่น โรคกล้ามเนื้อตึงตัว และ ออฟฟิศซินโดรม

สัญญาณอันตรายจากอาการปวดศีรษะที่ควรมาพบแพทย์ (Red flag signs)

  • อาการปวดศีรษะที่เป็นครั้งแรก หรืออาการปวดศีรษะที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต
  • อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นทันทีทันใด
  • อาการปวดศีรษะที่เป็นมากขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะอาการปวดที่แตกต่างจากเดิมที่เคยเป็น
  • อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นใหม่ในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปี
  • อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นใหม่ในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคมะเร็ง ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือตั้งครรภ์
  • อาการปวดศีรษะร่วมกับภาวะหมดสติชั่วคราวหรือชัก
  • อาการปวดศีรษะที่ถูกกระตุ้นจากบางปัจจัย เช่น การออกแรง การเบ่ง หรือการมีเพศสัมพันธ์
  • อาการทางระบบประสาทที่เกิดร่วม เช่น เวียนศีรษะ อ่อนแรง เป็นนานมากกว่า 1 ชั่วโมง
  • พบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายทั่วไปหรือการตรวจทางระบบประสาท

อาการปวดศีระษะไมเกรน ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น?

อาจทำให้เกิดโรคปวดศีรษะที่มีสาเหตุร้ายแรง เช่น การอุดตันของหลอดเลือด การแตกของหลอดเลือด ก้อนในสมอง เป็นต้น หากทิ้งไว้หรือไม่ได้รับการวินิจฉัย รวมถึงการรักษาสาเหตุที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น อ่อนแรงถาวร ทำให้สูญเสียมูลค่าทางการรักษา การนำไปสู่การใช้ยาเกินขนาดหรือเกิดภาวะติดยาแก้ปวดได้ การป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ รายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของการปวดศีรษะ หลักการคือรักษาสาเหตุ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นใช้ยาป้องกันอาการปวด

กลุ่มอาการปวดตึงกล้ามเนื้อจากการใช้งาน หรือ ออฟฟิศซินโดรม ปวดตึงกล้ามเนื้อคอ/บ่า/ไหล่/หลัง

สาเหตุของการเกิดอาการปวดกลุ่มกล้ามเนื้อตึงตัว เกิดจากการใช้งานกลุ่มกล้ามเนื้อนั้นซ้ำๆ นานๆ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งค้างและอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กาารหลั่งสารสื่อประสาทที่กระตุ้นความปวด (Nitric oxide synthase) ไปกระตุ้นตัวรับความเจ็บปวดที่อยู่รอบๆ กล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวด หลังได้รับตัวกระตุ้น (Precipitating factors) และหากตัวกระตุ้นเหล่านี้คงอยู่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อตัวรับความเจ็บปวดในระบบประสาทส่วนกลาง (Central pain receptor) แปลผลรับรู้ความเจ็บปวดนั้นต่อเนื่อง เกิดเป็นอาการปวดเรื้อรังได้ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ได้แก่

  • ภาวะร่างกายพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ แร่ธาตุบางตัว เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม โปแตสเซียม ธาตุเหล็ก ขาดวิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี
  • ภาวะกล้ามเนื้อมีความทนทานต่ำ
  • ความเครียด ภาวะอดนอน

อาการของการปวดจากกล้ามเนื้อตึงตัว หรือ ออฟฟิศซินโดรม

  • ผู้ป่วยมักมีอาการปวด เกร็ง ตึงตัวในกล้ามเนื้อกลุ่มที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น กล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ ขมับ หลัง เอว ขา ในผู้ป่วยบางรายอาจคลำได้ก้อนของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากการหดเกร็งค้างของกล้ามเนื้อ เรียกว่า Trigger point
  • ลักษณะการปวดตื้อๆ หน่วงๆ สัมพันธ์กับการใช้งานกล้ามเนื้อนั้นๆ 
  • ระยะเวลาปวดขึ้นกับความรุนแรงของแต่ละรายมักไม่ค่อยพบอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง ชา ถ้าพบอาการร่วม ควรสงสัยโรคปวดศีรษะที่มีสาเหตุร้ายแรง

การรักษาการปวดจากกล้ามเนื้อตึงตัว หรือ ออฟฟิศซินโดรม

มีหลักการคือเพื่อลดอาการเกร็ง ตึงของกลุ่มกล้ามเนื้อนั้น ๆ ได้แก่

  • การรักษาอาการตึงเกร็ง ด้วยยารับประทานหรือยาฉีด ได้แก่ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาพาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioid
  • การคลายจุดตึงของกล้ามเนื้อ ด้วยวิธีการฝังเข็ม (Dry needle puncture
  • การฉีดยาลดการอักเสบเข้าไปยังจุดที่กล้ามเนื้อดังกล่าวโดยตรง (Trigger point injection) 
  • การสลายจุดตึงด้วยวิธีนวดกดจุด (Massage) 
  • การสลายจุดตึงด้วยการประคบร้อน/วางแผ่นร้อน (Heat pack compression) 
  • การสลายจุดตึงด้วยการใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Ultrasound) 
  • การสลายจุดตึงด้วยการใช้คลื่นกระแทก (Shock wave) 
  • การสลายจุดตึงด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic stimulation therapy) ซึ่งเป็นวิทยาการใหม่ล่าสุด

 ขั้นตอนการรักษา ได้แก่ 

  1. ผู้ป่วยแต่ละรายจะได้รับการประเมิน เพื่อให้การวินิจฉัยโรค สาเหตุที่เกิดร่วม 
  2. การตรวจเพิ่มเติมในบางรายเพื่อการวินิจฉัยแยกโรค
  3. วางแผนการรักษากับแพทย์ที่ดูแล เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพสูงสุด และยังช่วยลดระยะเวลาในการรักษา อีกทั้งยังเพื่อลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละรายจากการรับการรักษาแต่ละชนิดอีกด้วย
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?