หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

HIGHLIGHTS:

  • การนั่งผิดท่า เช่น การนั่งไขว่ห้าง นั่งไม่พิงพนัก นั่งทำงานบนเตียง เป็นระยะเวลานาน การยกของหนักมากๆ หรือยกของด้วยท่าทางที่ผิด การออกกำลังกายผิดท่า หรือใช้น้ำหนักมากเกินไป กีฬาบางชนิดที่มีลักษณะการทำซ้ำๆ เช่น กอล์ฟ  ปั่นจักรยาน  อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
  • การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ด้วยวิธีส่องกล้อง จะทำให้แพทย์มองเห็นภายในกระดูกสันหลังอย่างชัดเจน เป็นการผ่าตัดที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบๆ น้อยกว่าวิธีอื่น อาการเจ็บปวดหลังจากผ่าตัดจะน้อยมาก ฟื้นตัวเร็ว และสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น

อาการปวดหลัง ปวดคอ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ หรือต้องยกของหนักมากๆ เป็นประจำ  หลายคนมักเข้าใจว่าเกิดจากภาวะออฟฟิศซินโดรม เพียงปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง หยุดทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอาการปวดหลังและรับประทานยา อาการปวดก็สามารถหายได้เอง  แต่แท้จริงแล้วอาการปวดบางอย่าง อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท 

กระดูกสันหลัง และ หมอนรองกระดูกสันหลัง

กระดูกสันหลัง เป็นกระดูกแกนกลางร่างกายในการรองรับน้ำหนักตัว มีลักษณะเป็นปล้องๆ ตั้งแต่คอถึงเอว โดยมีหมอนรองกระดูก ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อลักษณะแผ่นกลม คั่นอยู่ในแต่ละชั้น ทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกาย ช่วยปกป้องกระดูกจากกิจกรรมที่มีแรงกระแทก และมีความยืดหยุ่นขณะเคลื่อนไหว 

ภายในหมอนรองกระดูกสันหลัง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เนื้อเยื่อด้านใน  (Nucleus pulposus) ลักษณะคล้ายเจล ช่วยกระจายแรงของนํ้าหนักตัวที่ส่งผ่านมายังกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว และเนื้อเยื่อด้านนอก (Annulus fibrosus) มีความเหนียว ช่วยปกป้องเนื้อเยื่อด้านใน และทำให้ข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังมีความมั่นคงแข็งแรง 

ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากอะไร

ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนออกไปจากขอบเขตปกติของแนวกระดูกสันหลัง ส่งผลให้ไปกดทับไขสันหลัง ซึ่งมีระบบประสาทที่มีหน้าที่รับความรู้สึก และควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ จึงเป็นสาเหตุของอาการปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาการชา

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท เกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง  ส่วนที่เป็นน้ำภายในเยื่อด้านใน Nucleus pulposus ลดลง ทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนักของหมอนรองกระดูกเสียไป เมื่อเกิดการรับน้ำหนัก หรือผิดท่าทาง ส่งผลให้เนื้อเยื่อหมอนรองกระดูกชั้นนอก Annulus fibrosus ฉีกขาด และส่วนประกอบที่เป็นเจลบริเวณกลางของหมอนรองกระดูกเกิดการเคลื่อนออกมาจากรอยฉีกขาด ทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท   
  • การออกกำลังกาย  โดยเฉพาะเวทเทรนนิ่งผิดท่า หรือใช้น้ำหนักมากเกินไป
  • กีฬาบางชนิดที่มีลักษณะการทำซ้ำๆ เช่น กอล์ฟ  ปั่นจักรยาน 
  • บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ แต่พบได้น้อย
  • การนั่งผิดท่าเป็นระยะเวลานาน เช่น นั่งพื้น ไขว่ห้าง ไม่พิงพนัก นั่งทำงานบนเตียง
  • ยกของหนักมากๆ หรือยกของด้วยท่าทางที่ผิด 

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท มีกี่ประเภท

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท แบ่งตามตำแหน่งของโพรงประสาท ดังนี้

  1. ตรงกลาง (Central Zone) มักมีอาการปวดหลัง รักษาด้วยการรับประทานยา ทำกายภาพบำบัด ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด  
  2. ด้านข้าง (Subarticular Zone) พบได้มาดแบบมาตรฐาน 
  3. ในช่องเส้นประสาท (Foraminal Zone) มักมีอาการเจ็บปวดร้าวลงขา อาจมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย สามารถรักษาโดยใช้การผ่าตัดด้วยกล้อง
  4. นอกช่องเส้นประสาท (Extraforaminal Zone) ส่วนใหญ่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยกล้อง
    หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท สามารถพบร่วมกันหลายตำแหน่งได้ เป็นสิ่งสำคัญที่แพทย์ต้องสามารถทำการวินิจฉัยตำแหน่งได้อย่างแม่นยำเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และได้ผลดีที่สุด

การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

 เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง แพทย์จะทำการวินิจฉัย ดังนี้

  • ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  • การวัดคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยตามแบบประเมิน Oswestry Disability Index (ODI) โดยจะประเมินก่อนการรักษาและหลังการรักษา  
  • หากมีข้อบ่งชี้ของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท แพทย์จะส่งเอกซเรย์ทั้งในท่านิ่ง (static view )และแบบเคลื่นไหว (dynamic view)
  • ตรวจ MRI โดยไม่ฉีดสี ยกเว้นสงสัยว่ามีการติดเชื้อ 
  • การประเมินความเจ็บปวด ตามมาตรฐานสากล โดยแบบประเมิน visual analogue scale (VAS) โดยระดับ 0 หมายถึง ไม่ปวด และ ระดับ 10 หมายถึงปวดมากที่สุด 
  • การวินิจฉัยร่วมกับการรักษา (Therapeutic Diagnosis) 

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

  • การรักษาในเบื้องต้นอาจใช้วิธีพักให้เพียงพอ หรือใช้ยาแก้ปวด
  • ทำกายภาพบำบัดในโรงพยาบาล และที่บ้าน
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และอริยาบถในการนั่ง ยกของ  การออกกำลังกาย และเล่นกีฬา
  • การฉีดยาที่ใช้ลดอาการบวมและอักเสบเข้าไปในกระดูกสันหลัง เพื่อลดการอักเสบและหาสาเหตุของการเจ็บปวดนั้นๆ
  • การฉีดยาเข้าช่องเส้นประสาท ซึ่งต้องทำในห้องผ่าตัด ด้วยเครื่องเอกซเรย์เพื่อนำเข็มเข้าสู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง
  • การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เพื่อนำหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนที่มีปัญหาออก

การผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

แนวทางการรักษาด้วยการผ่าตัดภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท เป็นการเปิดโพรงประสาทออกบางส่วน เพื่อนำหมอนรองกระดูกที่แตกออกมา

ข้อดีของการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

คือสามารถคลายเส้นประสาทที่ถูกกดทับได้โดยทันที แก้ไขปัญหาอาการปวดร้าวลงขา ผู้ป่วยสามารถกลับไปเดินได้ ภายใน 1-2 วัน และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยระยะเวลานอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 2 วัน เท่านั้น

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มี 2 แบบ คือ

  1. การผ่าตัดแบบเปิดแผล (Open Surgery) เป็นวิธีการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณตำแหน่งหมอนรองกระดูกที่มีปัญหา จากนั้นใช้เครื่องมือ1. นำส่วนที่กดทับออก แล้วจึงเย็บปิดแผล โดยผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน และต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นสภาพร่างกายประมาณ 4-6 สัปดาห์  
  2. การผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery-MIS) การพัฒนาวิธีการผ่าตัดที่ทำให้แผลเล็กลง และภาวะบาดเจ็บจากการผ่าตัด รวมถึงทำให้กล้ามเนื้อหลังฟื้นฟูได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว

การผ่าตัดแบบแผลเล็ก สามารถทำได้ ดังนี้

  • การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยาย (Microscopic  discectomy) เป็นการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์  สามารถเห็นรายละเอียดของเส้นประสาทอย่างชัดเจน  โดยไม่จำเป็นเปิดแผลกว้าง ซึ่งทำให้แผลผ่าตัดเล็กเพียง 2-3 เซนติเมตร เท่านั้น   
  • การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง (Endoscopic discectomy) การผ่าตัดโดยใช้กล้อง endoscope ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กขนาด 7.9 - 10.5 มิลลิเมตร ใช้แสงและมีระบบน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา ปลายกล้องมีเลนส์กำลังขยายสูง ทำให้มองเห็นภายในกระดูกสันหลังอย่างชัดเจน เพื่อเอาหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก  เป็นการผ่าตัดที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบๆ น้อยกว่าวิธีอื่น ดังนั้นอาการเจ็บปวดหลังจากผ่าตัดจะน้อยมาก ฟื้นตัวเร็ว และสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น

คำแนะนำก่อนการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  • แพทย์ให้ข้อมูลกับผู้ป่วยเกี่ยวกับการผ่าตัด 
  • ตรวจเลือด ตรวจคัดกรองโรคหัวใจด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เอกซเรย์ปอด, Echo-cardiogram และการประเมินผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด
  • ทีมสหวิชาชีพหลายสาขาร่วมสัมภาษณ์ประวัติการเข้ารับการรักษาและสอบถามประวัติการใช้ยาของผู้ป่วยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งวิตามิน สมุนไพร และอาหารเสริมต่างๆ ที่มีสาเหตุทำให้เลือดจางลง เพื่อให้หยุดใช้ยาก่อนเข้ารับการผ่าตัด  

คำแนะนำหลังการผ่าตัด

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรพักฟื้นในโรงพยาบาลอย่างน้อย 24 - 48 ชม. เมื่อกลับบ้านแล้ว ควรปฏิบัติ ดังนี้

  • แผลจะถูกน้ำได้เมื่อแผลหายสนิทดี อาจใช้เวลาประมาณ 10 - 14 วัน  
  • การตัดไหมขึ้นอยู่กับชนิดของไหมที่ศัลยแพทย์ใช้ ซึ่งมีทั้งไหมละลาย และไหมไม่ละลาย โดยแพทย์จะแจ้งให้ทราบ ทั่วไปจะตัดไหมหลังผ่าตัด 14 วัน ยกเว้นถ้าเย็บด้วยไหมละลายในชั้นใต้ผิวหนังจะไม่ต้องตัดไหม
  • หากแผลมีอาการปวด บวม แดงร้อน หรืออาจมีสารคัดหลั่งออกมาจากแผล มีไข้ ปวดหลังมากผิดปกติ ควรรีบกลับมาพบแพทย์ 
  • หลังผ่าตัดต้องใส่อุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลัง ซึ่งโดยทั่วไปจะได้รับคําแนะนําให้ใส่ไว้ 1-2 เดือนหรือตามแพทย์สั่ง 
  • สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติภายใน 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด แต่บางรายอาจต้องใช้เวลา 4-8 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับความแข็งแรง  ลักษณะของงาน และชนิดของการผ่าตัด 
  • การลุกนั่งจากเตียง  ควรพลิกตะแคงตัว งอเข่าสะโพกเล็กน้อย ใช้มือสองข้างยันตัวลุกขึ้นพร้อมกับค่อยๆ ยกขาทั้งสองข้างห้อยข้างเตียง  ยันตัวลุกขึ้นนั่งตัวตรง แล้วจึงลุกยืน

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนในการรักษา

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ผู้ป่วยมักเกิดความวิตกกังวลถึงผลลัพธ์ของการรักษา กลัวว่าการผ่าตัดจะเป็นอันตราย รวมถึงหลังผ่าตัดจะมีความเสี่ยงเป็นอัมพาต แต่ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทได้พัฒนาไปจากในอดีตมาก ทั้งขนาดของแผลผ่าตัด  มาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงแพทย์ผู้ชำนาญ ที่สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ ทำให้ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้เร็วขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยลงกว่าเดิมมาก

  • อย่างไรก็ตามอาจมีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท  ดังนี้
  • ภาวะเสียเลือด ติดเชื้อที่แผลผ่าตัด  รากประสาท-ไขสันหลังบาดเจ็บ (อ่อนแรง สูญเสียความรู้สึก) 
  • ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ โพรงหลังฉีกขาด น้ำไขสันหลังรั่ว ปวดศีรษะ เลือดออกในสมอง
  • อาการปวดหลังไม่ดีขึ้น  หรือยังมีอาการปวดหลงเหลืออยู่  
  • เส้นเลือดตีบ  เส้นเลือดอุดตันในปอด อัมพาต และบาดเจ็บที่อวัยวะภายใน ซึ่งเป็นภาวะที่พบน้อยมาก แต่ร้ายแรง 
  • นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเฉพาะโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด เช่น
  • ความไม่มั่นคงของข้อต่อกระดูกสันหลัง ในช่วงแรกหลังผ่าตัด หรือ เมื่อผ่าไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง
  • การเกิดหมอนรองกระดูกเคลื่อนช้ำหรือ การเปิดโพรงประสาทที่ไม่เพียงพอ
  • เลือด หรือของเหลวในจุดที่ผ่าตัด กดทับรากประสาท
  • การบาดเจ็บของแผงประสาทบั้นเอว (Cauda equina syndrome)

ดังนั้น การเลือกแพทย์หรือสถานพยาบาลเพื่อทำการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท จึงมีความสำคัญอย่างมาก แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะทาง และมีประสบการณ์สูงจะสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง และเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อลดอาการแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากการผ่าตัด รวมถึง การทำงานร่วมกันระหว่างทีมแพทย์สหสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็น ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและข้อ วิสัญญีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้นหลังการผ่าตัด

หากมีอาการปวดคอ หลัง และเอวเรื้อรัง มีความรุนแรงหรือร่วมกับอาการของระบบประสาทที่ผิดปกติ  เช่น ปวดร้าวลงแขนหรือลงขา อาการชาปลายมือปลายเท้า หรือมีอาการอ่อนแรงของมือหรือขา อาจเป็นอาการแสดงของโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?