ควรเริ่มทำเมื่ออายุ 35 ปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจทุก 1-2 ปี การตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม หรือ ดิจิตอล แมมโมกราฟฟี่ นั้นเป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่ถ่ายภาพและเก็บรักษาภาพไว้ในฐานข้อมูลของระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถอ่านผลได้สะดวก และตรวจพบมะเร็งได้ง่ายขึ้นด้วยความสว่างและคมชัดของภาพ เมื่อแพทย์พบจุดที่น่าสงสัยหรือสังเกตเห็นความผิดปกติก็สามารถขยายภาพให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจหาความผิดปกติได้แต่เนิ่นๆ เนื่องจากสามารถเห็นเงาการเกาะตัวของแคลเซียมในเต้านมได้ชัดเจนกว่าระบบเดิม ยิ่งกว่านั้น การตรวจด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อเยื่อเต้านมมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งอาจดูกลมกลืนกับเนื้อร้ายได้ จึงทำให้ตรวจพบความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่มะเร็งเต้านมได้เร็วยิ่งขึ้น
การตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) ในกลุ่มผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไปสามารถลดความเสี่ยงการตายจากมะเร็งเต้านมได้ถึง 30%
ข้อดีของการเอ็กซเรย์เต้านม โดยใช้เครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม
- การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมใช้เครื่องเอกซเรย์ที่มีปริมาณรังสีค่อนข้างต่ำและน้อยกว่ารังสีเอกซเรย์ทั่วๆ ไป
- สามารถที่จะค้นหาลักษณะเนื้อเยื่อที่ผิดปกติและหินปูนได้ละเอียดและชัดเจน ตั้งแต่ขนาดเพียง 0.1-1 ซม. จึงทำให้ค้นพบระยะแรกเริ่มของมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว และดีกว่าการเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแบบเดิมๆ
- สามารถปรับความคมชัดของฟิล์มได้โดยที่ไม่ต้องถ่ายซ้ำใหม่ ทำให้สามารถลดอัตราการกลับมาทำและรับรังสีซ้ำ
- เป็นการตรวจที่ปลอดภัย และไม่ทำอันตรายใดๆ ต่อเต้านม
การเตรียมตัวก่อนตรวจแมมโมแกรม (mammogram)
- ไม่ควรทาแป้ง โลชั่น หรือฉีดน้ำหอมบริเวณหน้าอก เต้านม และรักแร้ เพราะจะมีผลต่อภาพแมมโมแกรม
- ควรนำฟิล์มเก่ามาเปรียบเทียบด้วยเสมอ เพื่อให้แพทย์สามารถเปรียบเทียบความผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ได้
- ควรตรวจแมมโมแกรมในช่วงที่ไม่เจ็บหรือคัดเต้านม โดยช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการตรวจแมมโมแกรม คือ 7-14 วันหลังหมดประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเริ่มลดลง ทำให้เต้านมไม่คัดตึง ทำให้เวลาตรวจแมมโมแกรมจะเจ็บน้อยกว่า
- ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหาร
- กรณีที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านม ควรบอกแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เทคนิคทุกครั้ง เพื่อการตรวจอย่างเหมาะสม
- ควรสวมเสื้อคลุมคนละท่อนกับกางเกงหรือกระโปรง และไม่ควรสวมเครื่องประดับที่หูหรือคอ