การรักษามะเร็งเต้านม

การรักษามะเร็งเต้านม

เมื่อถูกวินิจฉัยว่าพบความผิดปกติของเต้ามนม ผู้ป่วยมักตื่นตระหนกและกังวลถึงกระบวนการรักษาที่จะตามมา การที่ผู้ป่วยได้รับกำลังใจที่ดีและข้อมูลวิธีการรักษาอย่างครบถ้วนมากเพียงพอ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความมั่นใจและช่วยประคับประคองผู้หญิงทุกคนให้ก้าวผ่านช่วงเวลาอันแสนยากลำบากนี้ไปได้ ซึ่งการรักษามะเร็งเต้านมประกอบด้วย 5 วิธีการหลักๆ คือ การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน และการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy) แน่นอนว่าการรักษาแต่ละวิธีย่อมมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป การจะเลือกใช้วิธีการรักษาแบบใดนั้นทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ อาทิ ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง จะเป็นผู้ช่วยพิจารณาและวางแผนการรักษาตามภาวะและอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

การผ่าตัด

นอกจากวิธีการผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งหมดซึ่งเป็นวิธีการทั่วไปที่รู้จักกันดีอยู่แล้วนั้น ผู้หญิงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพจะรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งในระยะแรก หรือบางคนเป็นในระยะ 0 คือ เซลล์มะเร็งเต้านมยังอยู่แค่ภายในท่อน้ำนม ไม่ได้ลุกลามออกไปยังเนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้ง เราเรียกวิธีการนี้ว่าการผ่าตัดแบบสงวนเต้า ซึ่งนายแพทย์ชินวัตร วิสุทธิแพทย์ พร้อมให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการรักษานี้

วิธีการผ่าตัดแบบเก็บสงวนเต้านมนี้เริ่มแพร่หลายในประเทศไทยร่วม 20 ปี ซึ่งจุดประสงค์นอกจากจะเป็นการรักษามะเร็งเต้านมแล้ว ยังช่วยเรื่องความสวยงามของคุณผู้หญิงได้อีกด้วย แต่คนทั่วไปยังคงรู้สึกกลัวและมีความเชื่อว่าถ้าเป็นมะเร็งเต้านมแล้วจะต้องถูกตัดเต้าทิ้งเท่านั้น หากเก็บเต้านมไว้จะทำให้กลับมาเป็นมะเร็งได้อีก แต่ในความเป็นจริงแล้วการรักษาทั้ง 2 วิธีนี้ได้ผลใกล้เคียงกัน แต่ข้อสำคัญของการรักษาแบบสงวนเต้าคือ เมื่อผ่าตัดแล้วต้องต่อด้วยการฉายแสงอีกประมาณ 25-33 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 15 นาที และต้องมาทำติดต่อกันทุกวันจนกว่าจะครบเสมอ เพื่อไปยับยั้งเซลล์ที่ผิดปกติ และควบคุมไม่ให้มะเร็งเกิดขึ้นมาใหม่

หลายคนมักคิดว่าการผ่าตัดเก็บสงวนเต้านมเป็นกระบวนการที่เสียเวลา ร่วมกับความเชื่อว่าการฉายแสงนั้นเจ็บปวดปางตาย จึงทำให้ผู้ป่วยรายหลายตัดสินใจตัดเต้านมทิ้งมากกว่าที่จะเก็บไว้ ซึ่งในปัจจุบันเครื่องฉายแสงมีวิวัฒนาการก้าวหน้าไปไกลมาก ผลข้างเคียงลดลง ความเจ็บปวดก็น้อยลง จนบางคนอาจไม่มีรู้สึกถึงความเจ็บปวดจากการฉายแสงเลย ซึ่งนายแพทย์ชินวัตร วิสุทธิแพทย์ แนะนำว่าคนไข้สามารถปรึกษากับแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม จะได้ไม่เสียใจและเกิดความทุกข์ใจขึ้นภายหลัง

การรักษาด้วยการฉายรังสี

วิธีนี้ทำลายเซลล์มะเร็งด้วยการฉายรังสีมักเกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดแบบสงวนเต้า เพื่อยับยั้งเซลล์ผิดปกติที่อาจพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งขึ้นมาใหม่ การฉายรังสียังใช้ในกรณีการผ่าตัดเต้านมทิ้ง และกรณีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง หรือเมื่อก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตรได้อีกด้วย โดยนอกจากมะเร็งเต้านมแล้ว การฉายรังสียังสามารถใช้รักษามะเร็งในบริเวณส่วนอื่นของร่างกาย เช่น กระดูก หรือสมอง ฯลฯ

การรักษาด้วยเคมีบำบัด

การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือคีโม คือการทำลายและหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลส์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็ง หรือป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และวิธีการนี้ยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากเนื้อร้ายของผู้ป่วยได้อีกด้วย โดยการให้เคมีบำบัดเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การฉีดเคมีบำบัดเข้ากล้ามเนื้อ การฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือแม้แต่ชนิดรับประทาน อย่างไรก็ตาม เคมีบำบัดไม่ได้ออกฤทธิ์แค่กับเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อเซลล์ที่ปกติและการทำงานของอวัยวะอื่นๆด้วย ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีการนี้จึงอาจเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น โดยอาการข้างเคียงจะมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดยา และความแข็งแรงด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแต่ละราย

การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน

พบว่าการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมในผู้หญิงมีส่วนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนในร่างกาย ได้แก่ เอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, แอนโดนเจน, คอติโคสเตียรอย และฮอร์โมนโปรแลคติน หากเซลล์มะเร็งเต้านมที่ตรวจพบนั้นตอบสนองต่อการกระตุ้นจากฮอร์โมนข้างต้นได้ดี แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการลดระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือให้ยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางการส่งสัญญาณของฮอร์โมนที่เซลล์มะเร็ง ซึ่งวิธีการนี้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้เคมีบำบัดมาก และการบริหารยายังทำได้สะดวกมากกว่าอีก

การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy)

เป็นการรักษาด้วยยาหรือสารที่ออกฤทธิ์ยั้บยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งแพทย์สามารถพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีนี้วิธีเดียว หรือรักษาร่วมกับเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาได้ และถึงแม้ว่าการักษามะเร็งด้วยวิธี Targeted therapy จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัด แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสอบถามกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียดอีกครั้ง

นวัตกรรมการเอาก้อนเนื้อออกผ่านผิวหนังโดยไม่ต้องผ่าตัด (Percutaneous Excision)

นายแพทย์วรเทพ กิจทวี อธิบายถึง 2 เทคโนโลยีที่เลือกใช้ คือ The Intact™ Breast Lesion Excision System และ VACNB ซึ่งมีหลักการเดียวกันคือเป็นการสอดหัวเข็มผ่านผิวหนังเข้าไปเจาพเอาก้อนเนื้อออกมา โดยใช้การอัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยในการมองหาก้อนเนื้อ ซึ่งถือว่าเป็นได้ทั้งการวินิจฉัยโรค และการรักษาไปในตัว พร้อมกันนี้แพทย์สามารถนำเอาก้อนเนื้อนั้นไปตรวจหารอยโรคได้อย่างละเอียด หากผลสรุปออกมาว่าไม่เป็นเนื้อร้ายก็เท่ากับเป็นการรักษาให้หายขาดได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่

The Intact™ Breast Lesion Excision System

ลักษณะก้อนเนื้อที่ได้ออกมาจะเป็นก้อนกลมๆ ข้อดีคือ ทำได้ง่าย ไม่ต้องมีแผลผ่าตัด สามารถเอาก้อนเนื้อที่สงสัยออกมาได้พร้อมกับเนื้อบริเวณรอบๆ จึงไม่ใช่การตัดเพื่อตรวจชิ้นเนื้อเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นวิธีที่มีหลักการเดียวกับการผ่าตัดรักษามะเร็งทั่วไปด้วย ทั้งนี้ ข้อจำกัดของวิธีการนี้คือ ขนาดของก้อนเนื้อไม่ควรเกิน 1.5 เซนติเมตร แม้เครื่องมือจะสามารถใช้ตัดก้อนเนื้อได้ถึง 2 เซนติเมตร แต่เนื่องจากแพทย์จำเป็นต้องเอาเนื้อบริเวณรอบๆ ออกมาด้วย แพทย์จึงแนะนำให้ใช้สำหรับก้อนเนื้อที่มีขนาดไม่เกิน 1.5 เซนติเมตร และมีเพียงก้อนเดียวเท่านั้น เนื่องจากเครื่องมือ 1 หัวสามารถใช้ได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น

VACNB

ลักษณะก้อนเนื้อที่ออกมาจะเป็นเส้นๆ เมื่อสอดเครื่องเข้าไปที่ตัวก้อน เครื่องจะค่อยๆ ดูดแล้วตัดชิ้นเนื้อเข้ามาเก็บไว้ แล้วก็ตัดซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด คล้ายกับการปลอกมะม่วงไปทีละแถบจนหมดทั้งลูก ข้อได้เปรียบของวิธีนี้คือ ไม่ต้องมีแผลผ่าตัด สามารถตัดก้อนได้ขนาดใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร และสามารถทำได้ในกรณีที่มีก้อนเนื้อมากกว่า 1 ก้อน แต่ข้อจำกัดคือ หากตำแหน่งของก้อนเนื้ออยู่ชิดผิวหนัง การผ่าตัดจะต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?