Chimeric antigen receptor (CAR) T-cell therapy ทางเลือกใหม่ของการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันโดยการใช้ T-Cell ซึ่งเป็นชนิดของเม็ดเลือดขาวแบบหนึ่ง วิธีนี้สามารถรักษาได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เป็นการรักษาด้วยแนวทางพันธุวิศวกรรม โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง กุมารแพทย์โรคมะเร็งในเด็ก รพ.เด็กสมิติเวช ได้ร่วมคิดค้นการรักษากับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) นับเป็นผลงานของคนไทยที่ได้มาตรฐานสากลแห่งแรกในอาเซียน ไม่ต้องรอเวลาการส่งเลือดเพื่อไปทำการผลิต CAR T-cell ถึงต่างประเทศอีกต่อไป
ภาวะปกติร่างกายคนเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่คอยจดจำสิ่งแปลกปลอมในร่างกายโดยการค้นหาโปรตีนที่เรียกว่าแอนติเจนบนผิวของเซลล์เหล่านั้น เซลล์มีโปรตีนของตัวเองที่เรียกว่ารีเซพเตอร์ซึ่งจับกับแอนติเจนแปลกปลอมและช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายสารแปลกปลอมนั้น เช่นเดียวกับเซลล์มะเร็งที่ก็มีแอนติเจนเช่นกัน แต่ถ้าเซลล์ภูมิคุ้มกันของเราไม่มีตัวรับที่เหมาะสม ก็จะไม่สามารถจับกับแอนติเจนและไม่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้
Chimeric antigen receptor (CAR) T-cell เซลล์จะถูกนำมาจากเลือดและมีการเปลี่ยนแปลงในห้องทดลองโดยการเพิ่มยีนสำหรับตัวรับ (เรียกว่า chimeric antigen receptor หรือ CAR) ซึ่งช่วยให้ T-cell จับกับแอนติเจนของเซลล์มะเร็งที่เฉพาะเจาะจง มะเร็งก็จะถูกทำลายไป แต่เนื่องจากมะเร็งแต่ละชนิดมีแอนติเจนที่แตกต่างกัน CAR T Cell แต่ละชนิดจึงถูกสร้างขึ้นสำหรับแอนติเจนของมะเร็งที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น ในมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด เซลล์มะเร็งมีแอนติเจนที่เรียกว่า CD19 การบำบัดด้วย CAR T-cell เพื่อรักษามะเร็งเหล่านี้ จึงทำขึ้นเพื่อจับกับแอนติเจน CD19