กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

HIGHLIGHTS:

  • หากรู้สึกว่ายิ่งออกแรงมากยิ่งรู้สึกเจ็บหน้าอก อาจเป็นอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาได้ทัน
  • เพศชายอายุมากกว่า 45 ปี และเพศหญิงอายุมากกว่า 55 ปี เสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เหมือนขาดใจ

อย่านิ่งนอนใจ หากออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่างๆ โดยการออกแรงแล้วมีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอกตรงกลาง และอาจร้าวไปยังกรามทั้ง 2 ข้าง หรือร้าวไปที่แขน เมื่อนั่งพักจะดีขึ้น เพราะนั่นอาจเป็นอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากหินปูน หรือไขมันเกาะภายในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งปกติมีลักษณะเป็นท่อกลวง เมื่อมีการอุดตันหลอดเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้

ซึ่งในภาวะปกติอาจไม่แสดงอาการชัดเจน แต่เมื่อมีการออกแรงเกิดขึ้น กล้ามเนื้อปลายทางต้องใช้ออกซิเจนมากขึ้น หัวใจต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้น แต่หลอดเลือดอุดตันไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ทัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ในที่สุด
แม้กระแสดูแลสุขภาพจะกำลังนิยมในประเทศไทย แต่ก็ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ยังใช้ชีวิตในความเร่งรีบ ละเลยการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ วิถีชีวิตแบบพึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้คนไทยจำนวนมากหนีไม่พ้นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดทั้งสิ้น

นอกจากนี้อายุที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นอีกสาเหตุเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยเฉพาะเพศชายอายุมากกว่า 45 ปี และเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปี เมื่อมีอาการ เหนื่อย แน่นหน้าอก ควรรีบไปพบแพทย์

การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  • ประวัติการตรวจร่างกาย
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • ตรวจเอ็กซเรย์ปอด
  • อัลตร้าซาวด์หัวใจ (echocardiography)
  • การเดินสายพาน โดยมีมอนิเตอร์แสดงกราฟหัวใจ เพื่อบ่งบอกถึงอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ หัวใจขาดเลือด รวมถึงสามารถดูสมรรถภาพร่างกายของผู้มาทดสอบได้ด้วย
  • การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) สามารถตรวจดูหลอดเลือดหัวใจได้อย่างแม่นยำ

แนวทางการรักษา

  • รักษาทางยา
  • รักษาโดยการสวนหัวใจ ทำบอลลูน หรือใส่ขดลวดค้ำยัน
  • รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เพื่อทำการตัดต่อหลอดเลือด

แนวทางการป้องกัน

หมั่นดูแลสุขภาพ ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือสารกระตุ้นที่ทำให้มีปัญหากับร่างกาย สำหรับผู้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรรับการรักษาและพบแพทย์สม่ำเสมอ และสิ่งสำคัญที่สุด หากออกแรงแล้วเกิดอาการเจ็บหน้าอก จนเจ็บร้าวไปยังกรามหรือแขน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะทุกวินาทีนั้นมีค่ากับชีวิต

Virtual Hospital

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?