ศูนย์สุขภาพข้อเข่า

ชั้น 1 อาคาร 1 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 20.00 น. +66 2022 2494-6 info@samitivej.co.th

ศูนย์สุขภาพข้อเข่า

สมิติเวช สุขุมวิท

Knee Health Center (KHC) หรือ ศูนย์สุขภาพข้อเข่า ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศูนย์ให้การรักษาข้อเข่าแบบผ่าตัดเท่านั้น แต่เราเน้นให้การดูแลสุขภาพเข่าแบบองค์รวม ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพเข่า การรักษาอาการของข้อเข่าในรูปแบบต่างๆ และการป้องกันปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับข้อเข่า อีกทั้งยังให้การรักษาแบบเฉพาะกับผู้รับบริการเป็นรายบุคคล โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลสุขภาพเข่าของคุณอย่างใส่ใจและใกล้ชิด พร้อมทั้งเครื่องมือและเทคนิคการรักษาที่ทันสมัย เพื่อให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดี และกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติโดยเร็วที่สุด สามารถทำกิจกรรมที่ตัวเองอยากทำได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน ผู้สูงอายุ หรือเป็นผู้ที่เล่นกีฬาเป็นประจำ ศูนย์สุขภาพข้อเข่า โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มีความพร้อมและมั่นใจว่าผู้รับบริการทุกท่านจะได้รับบริการที่ดีที่สุด

บริการของศูนย์สุขภาพข้อเข่า

สาเหตุของอาการปวดข้อเข่ามีหลากหลายสาเหตุ อาจเป็นผลมาจากการใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม และ Runner’s knee หรืออาจเป็นผลมาจากการเล่นกีฬาอย่างสมบุกสมบัน เช่น ลูกสะบ้าหลุด หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด หรืออาจเป็นผลมาจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น การมีรูปเท้าผิดปกติ การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเข่าได้เช่นกัน

ศูนย์สุขภาพข้อเข่า ให้บริการดูแลรักษาสุขภาพเข่าในขอบเขตการรักษาดังต่อไปนี้

1. การบาดเจ็บข้อเข่าฉุกเฉิน (Trauma)

เป็นการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บเฉียบพลันรุนแรงจากอุบัติเหตุ การพลัดตกหกล้ม การปะทะกันหรือการชนกัน ในบางครั้งก็จะเกิดการบาดเจ็บในหลายส่วนรอบข้อเข่าขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น กระดูกรอบข้อเข่าหัก การเคลื่อนของกระดูกข้อเข่า การบิดของข้อเข่า การบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกข้อเข่า การขาดของเส้นเอ็นของข้อเข่า เป็นต้น โดยการรักษาการบาดเจ็บของโรคทางกระดูกและข้อนั้นต้องอาศัยการประเมินและการรักษาอาการบาดเจ็บที่รวดเร็ว

ศูนย์สุขภาพข้อเข่า โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบาดเจ็บกระดูกและข้อ ที่ผ่านการอบรมและฝึกฝนจนจบหลักสูตร มีประสบการณ์การประเมินและการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาอย่างมืออาชีพ โดยมุ่งเน้นการเตรียมการรักษาที่รวดเร็วและปลอดภัยที่สุดและในขณะเดียวกันก็ลดความพิการในระยะยาวมากที่สุดด้วย

2. การรักษาการบาดเจ็บข้อเข่าจากการเล่นกีฬาหรือการใช้งานหนัก

ในปัจจุบันเราพบว่าการเล่นกีฬาเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อเข่าได้บ่อย เช่น เอ็นไขว้หน้าขาด หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด เยื่อหุ้มข้อเข่าอักเสบ เอ็นอักเสบ ข้อเข่าเคลื่อนจากการกระแทก กระดูกสะบ้าแตกหัก เป็นต้น ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ที่รักการออกกำลังกาย หรือเป็นนักกีฬามืออาชีพ เมื่อได้รับการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือเกิดอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬา ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมโดยแพทย์ด้านกระดูกและข้อผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬา และทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหากจำเป็น

3. การดูแลรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมตามธรรมชาติ หรือเป็นผลมาจากโรคอื่นๆ ทางอายุรกรรม

ในบางกรณี หากผู้ป่วยมีภาวะบางอย่างที่เกิดจากการเสื่อมตามธรรมชาติ เช่น ภาวะข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิ หรือเป็นผลของโรคบางขนิด รวมถึงความผิดปกติอื่นๆ ในบริเวณข้อเข่า เช่น ภาวะข้อเข่าเสื่อมทุติยภูมิ โรคกระดูกพรุนอักเสบ (Osteochondritis dissecans: OCD) ภาวะกล้ามเนื้อต้นขาลีบ (Quadriceps muscle atrophy) ภาวะกระดูกข้อเข่าตายจากการขาดเลือด (Osteonecrosis of knee) เป็นต้น การรักษาก็จะเป็นแบบเฉพาะเป็นรายบุคคลไป เริ่มตั้งแต่การปรับไลฟ์สไตล์ การทำกายภาพบำบัด ไล่ไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ที่ศูนย์สุขภาพข้อเข่า โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มีแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ที่มีประสบการณ์การรักษามายาวนาน อีกทั้งยังศึกษาต่อด้านการผ่าตัดจากต่างประเทศ ทั้งเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา จึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับการบริการที่มีมาตรฐานและดีที่สุดจากเรา

4. การรักษาเนื้องอก/มะเร็ง (Tumor) ในข้อเข่า

แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งในกระดูกและข้อ มุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยและรักษาเนื้องอกของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ เช่น กระดูก กระดูกอ่อน ไขมัน หลอดเลือด และกล้ามเนื้อ ที่สัมพันธ์กับอาการในข้อเข่า ซึ่งรวมถึงเนื้องอกในกระดูกและเนื้อเยื่อที่ยังไม่เป็นมะเร็งและเป็นมะเร็งแล้ว (Benign and Malignant Tumor) เนื้องอกในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อนั้นเกิดได้กับผู้ป่วยทุกวัย และต้องมีทีมสหสาขาวิชาชีพที่ให้การรักษาแบบองค์รวมด้วยในหลายกรณี หากสงสัยว่ามีเนื้องอกในกระดูกและเนื้อเยื่อเกิดขึ้น ควรรีบเข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านเนื้องอกในระบบกระดูกและข้อ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหารอยโรคและตรวจประเมินอย่างเหมาะสมโดยเร็วที่สุด ที่ศูนย์สุขภาพข้อเข่ามีทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเนื้องอกในกระดูกและข้อที่มากด้วยประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ พร้อมให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีมาตรฐาน ใส่ใจในระดับสูงสุด

5. การดูและรักษาภาวะผิดปกติอื่นๆ ในร่างกายที่อาจส่งผลต่อสุขภาพข้อเข่า

  • การดูแลรักษาภาวะผิดปกติหรืออาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังที่ส่งผลต่อสุขภาพเข่า
    บ่อยครั้งที่โรคทางกระดูกสันหลัง เช่น การเสื่อมสภาพหรือการผิดรูปของเนื้อเยื่อหรือกระดูกที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกสันหลัง และความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่หมอนรองกระดูกสันหลัง มักเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหรืออาการผิดปกติ ที่ข้อเข่าและขาได้ เช่น ความผิดปกติที่กระดูกสันหลังทำให้เกิดอาการปวดร้าวจากหลังส่วนล่างลงมาที่ขาและเท้า เป็นต้น ศูนย์สุขภาพข้อเข่า โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มีแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง ที่มีประสบการณ์มายาวนาน แพทย์แต่ละท่านผ่านการรักษาโดยการผ่าตัดมาไม่ต่ำกว่า 100 เคสต่อปี อีกทั้งยังศึกษาต่อด้านการผ่าตัดส่องกล้องกระดูกสันหลังจากต่างประเทศ ทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี เชี่ยวชาญการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้องและเทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก จึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับการบริการที่มีมาตรฐานและดีที่สุดจากเรา
  • การดูแลรักษาภาวะผิดปกติหรืออาการบาดเจ็บของกระดูกสะโพกที่มีผลต่อสุขภาพเข่า
    เรามักพบอยู่บ่อยๆ ที่ผู้ป่วยมีภาวะความผิดปกติหรือโรคที่เกิดที่ข้อสะโพก แต่กลับส่งผลให้เกิดความผิดปกติหรืออาการปวดที่ข้อเข่า เช่น กระดูกข้อสะโพกเสื่อม ภาวะหัวกระดูกข้อสะโพกตายจากการขาดเลือด (Osteonecrosis of Femoral Head) การอักเสบของถุงน้ำข้อต่อบริเวณสะโพก (Trochanteric Bursitis) เป็นต้น ที่ศูนย์สุขภาพข้อเข่า โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ที่ผ่านการอบรมและฝึกฝนจนจบหลักสูตร มีประสบการณ์การประเมินและการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก พร้อมให้การรักษาที่มีมาตรฐานแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาอย่างมืออาชีพ
  • การดูแลรักษาภาวะผิดปกติหรืออาการบาดเจ็บของเท้าและข้อเท้า
    เนื่องจากข้อเท้าและข้อเข่ามีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน การมีพยาธิสภาพหรือโรคในข้อเท้าและเท้าบางอย่าง เช่น โรคเท้าแบน ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดข้อเข่าได้เช่นกัน รวมถึงการเกิดการบาดเจ็บที่ก่อให้เกิดอาการปวดที่ข้อเท้ามักเกิดจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ เช่น กระดูกข้อเท้าหัก จากการบาดเจ็บของเส้นเอ็น การเกิดข้อเท้าแพลง จากการใช้งานมากเกินไป หรือเกิดจากการที่ข้อเท้าไม่มั่นคง ซึ่งอาการเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการปวดในข้อเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมากได้ ในส่วนของอาการปวดที่เท้านั้นอาจเกิดจากการสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม การผิดรูปของเท้าบางส่วน การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกเท้าหัก หรือการเกิดข้อต่อระหว่างกระดูกในเท้าเสื่อม เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถพบแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านเท้าเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

ทำแบบประเมินภาวะข้อเข่าเสื่อม SELF check Screening คลิกที่นี่

ความเชี่ยวชาญของเรา

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty: TKA)

เป็นการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าส่วนที่เสียหรือเสื่อมสภาพออกทั้งหมด ทั้งส่วนปลายของกระดูกต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) ทั้งฝั่งด้านในและด้านนอก (Medial and Lateral Compartment) แล้วแทนที่ด้วยผิวข้อเข่าเทียมที่ทำจากโลหะอัลลอยด์ครอบหรือคลุมกระดูกส่วนที่เฉือนออกไป และมีแผ่นโพลีเอทิลีนชนิดพิเศษกั้น

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartmental Knee Arthroplasty: UKA)

เป็นการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าเฉพาะส่วนที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพออก นั่นคือเฉพาะฝั่งด้านในหรือด้านนอกเพียงด้านเดียว (Medial and Lateral Compartment) ผิวข้อเข่าที่เสื่อมจะถูกแทนที่ด้วยผิวโลหะอัลลอยด์ โดยมีแผ่นโพลีเอทิลีนซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรองรับ แทนที่หมอนรองกระดูกเดิม กั้นระหว่างโลหะ วิธีนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่และเป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็ก ที่ช่วยเก็บผิวข้อเข่ารวมถึงเอ็นและเนื้อเยื่อเดิมที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้เกิดความรู้สึก เสมือนธรรมชาติ หลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้

Takatsuki General Hospital x Samitivej Hospital

โรงพยาบาลสมิติเวช ได้เดินหน้ายกระดับความเป็นเลิศทางการแพทย์ โดยมีการร่วมมือพัฒนาความรู้และความชำนาญของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งกันและกันกับโรงพยาบาล Takatsuki General Hospital ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรงพยาบาล Ajinkai Healthcare Corporation ที่มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในภูมิภาคคันไซ ประเทศญี่ปุ่น

Takatsuki General Hospital มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะทางหลากหลายด้าน เช่น ด้านกุมารเวชและการดูแลหออภิบาลผู้ป่วยเด็กแรกเกิด รวมถึงด้านกระดูกและข้อที่ชูจุดเด่นเรื่องนวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยใช้เทคนิคการผ่าตัดรูปแบบใหม่ ความร่วมมือในครั้งนี้ได้ช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมให้ดีขึ้น เพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมให้มากขึ้น ส่งผลให้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ดังเดิม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

รายชื่อแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพข้อเข่า

นพ. วิเชียร จิระบุญศรี แพทย์ด้านกระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและการผ่าตัดผ่านกล้อง ถือวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ศึกษาต่อด้านการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่ประเทศเยอรมนี

นพ. วีรยุทธ ชยาภินันท์ แพทย์ด้านกระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและการผ่าตัดผ่านกล้อง ถือวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ศึกษาต่อด้านการผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าที่ประเทศสวีเดน

นพ. กฤษกมล สิทธิทูล แพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ถือวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ศึกษาต่อด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่ประเทศเยอรมนี

นพ. สีหธัช งามอุโฆษ แพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ถือวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ศึกษาต่อด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

นพ. บัญญัติ เกตุมาลาศิริ แพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ถือวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ศึกษาต่อด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและการแพทย์กีฬาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทำแบบประเมินภาวะข้อเข่าเสื่อม SELF check Screening คลิกที่นี่

แนวทางการวินิจฉัยและรักษา

  1. การคัดกรองเบื้องต้น – การทำแบบประเมินภาวะข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้นสำหรับผู้รับบริการทั่วไป หากคุณสงสัยและไม่แน่ใจว่าตนเองอาจมีอาการข้อเข่าเสื่อม เช่น มีอาการเข่าติดในตอนเช้า เข่ามีเสียงกรอบแกรบ เข่าผิดรูป หรือไม่ สามารถทำแบบประเมินอาการข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้นได้ ที่นี่ 
  2. การตรวจวินิจฉัยข้อเข่าของผู้ป่วย ทำได้โดย
    • การส่งตรวจเอกซเรย์ เพื่อหาช่องว่างระหว่างกระดูกในข้อเข่าของผู้ป่วยว่ามีช่องว่างเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงการตรวจหาปุ่มกระดูกที่อาจเกิดขึ้นบริเวณรอบๆ ข้อเข่าได้ รวมถึง
    • การเจาะเลือด ที่จะช่วยทดสอบและแยกแยะสาเหตุอื่นๆ ออกจากโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น โรครูมาตอยด์ เป็นต้น
  3. แพทย์จะประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมของผู้ป่วย โดยใช้ ระบบการให้คะแนน (Scoring) ที่เหมาะสม เป็นเครื่องมือในการประเมิน
  4. การรักษาที่เหมาะสม – เมื่อแพทย์ประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย โดยจะพิจารณาเริ่มการรักษาแตกต่างกันเป็นรายบุคคลไป เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
    1. การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เพราะกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วงพยุงข้อเข่า และถ่ายเทน้ำหนักจากข้อเข่ามาที่กล้ามเนื้อได้ดี ทำให้ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักมากจนเกินไป
    2. การรักษาทางชีวภาพ หรือ Biological Therapy ซึ่งเป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาอาการผิดปกติของกระดูกอ่อนและน้ำเลี้ยงข้อเข่า โดยจะทำการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า (Hyaluronic acid) เข้าไปเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการฝืดตึงของข้อเข่า หรือฉีด Platelet Rich Plasma (PRP) หรือสารสกัดจากเลือดที่มีความเข้มข้นของเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติของผู้ป่วยเอง ก็ทำได้เช่นกัน
    3. การรักษาด้วยการใช้ยา เพื่อลดอาการปวดข้อเข่าที่รบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อาจจะเป็นแบบรับประทาน หรือแบบฉีดก็ได้
    4. การทำกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อเข่า เช่น การทำอัลตราซาวด์ การใช้เลเซอร์รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด
    5. การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery) คือ การผ่าตัดรูปแบบใหม่ โดยใช้กล้องวิดีโอขนาดเล็กสอดเข้าไปในข้อเข่า และเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับจอภาพทีวี ทำให้เห็นส่วนต่างๆ ภายในข้อเข่าได้อย่างชัดเจน มักใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่มีหมอนรองข้อเข่าขาด เอ็นข้อเข่าขาด กระดูกอ่อนแตก หรือข้อเข่าล็อค เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป
    6. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Arthroplasty) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดอาการปวด เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่า และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ทั้งนี้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ปัจจุบันทำได้ 2 วิธี คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด และ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดแตกต่างกันออกไปไป