การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สามารถทำได้ในช่วงอายุที่หลากหลาย ขึ้นกับข้อบ่งชี้ โดยต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
1.การเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมด (Total Knee Replacement)
Total Knee Replacement เป็นการผ่าตัดโดยการตัดผิวข้อเข่าที่เสียหายของกระดูกส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) ทั้งด้านในและนอก (Medial and lateral compartment) ออกทั้งหมด จากนั้นจึงทำการแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยใช้แผ่นโพลีเอทิลีนกั้น ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมาก มักทำการผ่าตัดแบบนี้ในผู้ป่วยที่มีการทำลายของกระดูกอ่อนและเอ็นภายในข้อเข่าอย่างมากแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอายุมาก (> 60ปี) มีแนวขาที่ผิดรูปร่วมด้วย ซึ่งการผ่าตัดจะสามารถแก้ไขได้ในคราวเดียวกัน
2.การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบเฉพาะฝั่ง (Unicompartmental Knee Replacement)
เป็นการผ่าตัดโดยการตัดผิวข้อเข่าที่เสียหายออก ทั้งกระดูกส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) เฉพาะด้านในหรือด้านนอก (Medial or lateral compartment) จากนั้นจึงทำการแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยใช้แผ่นโพลีเอทิลีนกั้น มักทำในผู้ป่วยที่มีการทำลายของกระดูกยังไม่มากและเป็นเฉพาะฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เป็นการผ่าตัดที่สามารถเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ รวมถึงเส้นเอ็นภายในข้อเข่าให้อยู่ในสภาพเดิม ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติมากที่สุด อีกทั้งยังสามารถลงเดินลงน้ำหนักได้หลังผ่าตัดเพียง 1-2 วัน
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเปลี่ยนข้อเข่าให้เหมาะสม ขึ้นกับการวินิจฉัยสาเหตุ ระยะของพยาธิสภาพรวมถึงการประเมินช่วงการเคลื่อนไหว ความมั่นคง และความแข็งแรงของข้อเข่า นอกจากนี้การตัดสินใจเลือกรุ่นของข้อเข่าเทียมและเทคนิคการผ่าตัดยังต้องคำนึงถึง อายุ น้ำหนัก ระดับกิจกรรม รูปร่างของเข่าและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยอีกด้วย