ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia)

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia)

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง บางครั้งไม่ได้แสดงอาการให้เห็นเสมอไป การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยบอกถึงภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลให้เส้นประสาท หลอดเลือด หรืออวัยวะต่างๆ ถูกทำลายจนมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ได้แก่ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าเกณฑ์ค่าปกติ คือ มากกว่า 99 มก./ดล. หลังอดอาหาร 8 ชม. และ เกิน 140 มก./ดล. หลังมื้ออาหาร 2 ชม. ภาวะเช่นนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลให้เส้นประสาท หลอดเลือด หรืออวัยวะต่างๆ ถูกทำลายจนมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้

สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มักเกิดจาก โรคเบาหวานเป็นหลักเพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้น มีระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้ง่าย เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลผิดปกติ

ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานก็เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรคหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น

  • การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบมากเกินไป
  • โรคเครียด หรือมีภาวะเครียดตลอดเวลา
  • ไม่ชอบ หรือไม่เคยออกกำลังกาย
  • การติดเชื้อมีไข้
  • เป็นโรคเกี่ยวกับตับอ่อน ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้
  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยากดภูมิต้านทาน

สัญญาณอันตรายของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักลด ผิวแห้ง รู้สึกหิวแม้จะเพิ่งกิน อ่อนเพลีย สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด ซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนี้ บางทีไม่ได้แสดงอาการให้เห็นเสมอไป การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยบอกถึงภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้

การแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แตกต่างกันตามแต่ละบุคคล โดยพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงและความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก

  • ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและดื่มน้ำให้มากขึ้น แพทย์หรือนักโภชนาการจะช่วยดูแลและให้คำแนะนำด้านการกินอาหารที่ถูกต้อง เช่น ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หรือดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพราะน้ำจะช่วยขจัดน้ำตาลออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะและป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเพิ่มการใช้พลังงาน ทำให้น้ำตาลถูกนำออกมาใช้ แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ควรระมัดระวังในการเลือกประเภทของการออกกำลังกาย โดยอาจขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
  • เปลี่ยนชนิดของยา เนื่องจากยาบางชนิดมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อลดผลข้างเคียงและความเสี่ยงด้านสุขภาพ
  • ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยควบคุมอาการไม่ให้แย่ลง การจดบันทึกและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้แพทย์ติดตามการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ระดับน้ำตาลในเลือดสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การป้องกันที่ดีจึงอยู่ที่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเรื่องการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน และตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรรับประทานยาและไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และหากพบความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการควบคุมหรือการรักษาเพิ่มเติม

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?